นอนกรน
นอนกรน อาการอันตรายที่ไม่ควรไว้วางใจ

 

การนอนกรน (Snoring) เป็นอาการสำคัญของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งมีสาเหตุมาจากอวัยวะในระบบหายใจส่วนต้นบางส่วนแคบลง ผู้ป่วยสามารถตรวจความรุนแรงได้ผ่านการทำ Sleep Test เพื่อหาระดับความเสี่ยงที่เป็นอันตราย หากพบว่ามีอาการที่ไม่รุนแรง สามารถปรับพฤติกรรมการนอนเพื่อช่วยให้อาการดีขึ้นได้

 

 

อาการนอนกรนเกิดจากสาเหตุใด

 

เกิดจากการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อบริเวณคอหอย และผนังลำคอขณะหลับ ทำให้เกิดการอุดกั้นระบบทางเดินหายใจในบางจุด จนเกิดการสั่นสะเทือนของกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อ เพดานอ่อน ผนังคอหอย โคนลิ้น รวมไปถึงลิ้นไก่ เมื่อระบบทางเดินหายใจแคบลง จึงทำให้เกิดเสียงกลายเป็นการนอนกรนในที่สุด นอกจากนี้ยังมีผลกระทบรุนแรงต่อการหายใจทำให้ไม่สามารถหายใจได้ชั่วขณะหนึ่ง หรือเรียกว่า ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

 

 

ประเภทของการนอนกรน

 

การกรนธรรมดา

 

คือ อาการที่เกิดจากการตีบแคบของบริเวณทางเดินหายใจส่วนบน ผู้ป่วยอาจพบภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้ แต่จะไม่ถึงเกณฑ์ที่แพทย์วินิจฉัยภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

 

 

การกรนระดับอันตราย

 

เป็นอาการนอนกรนที่ถึงเกณฑ์ที่กำหนดของการวินิจฉัยภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โดยมีสาเหตุมาจากบริเวณทางเดินหายใจส่วนบนเกิดการตีบแคบมากขึ้น ส่งผลให้มีการหยุดหายใจชั่วขณะ และอากาศสามารถผ่านได้น้อยลง ผู้ป่วยจะมีอาการกรนที่เสียงดัง แล้วจะเงียบไปสักพักหนึ่ง บางรายอาจสะดุ้งตื่นแล้วมีอาการหายใจเฮือกขึ้นมา 

 

 

บุคคลใดบ้างที่มีความเสี่ยงต่ออาการนอนกรน

 

อาการนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย อาจกล่าวได้ว่าผู้ที่มีอาการนอนกรน อาจมีความเสี่ยงต่อภาวะหยุดหายใจขณะหลับด้วย ซึ่งกลุ่มบุคคลเหล่านั้น ได้แก่

 

  • พบได้ในเพศชายมากกว่าเพศหญิง

 

  • เพศหญิงวัยหมดประจำเดือนและผู้หญิงที่ตั้งครรภ์

 

  • ผู้ที่มีรูปหน้าเบี้ยว คางผิดปกติ จมูกคด หรือโครงสร้างของช่องจมูกแคบ

 

 

น้ำหนักเกินเกณฑ์

 

 

  • น้ำหนักเกินมาตรฐาน มีผลทำให้ทางเดินหายใจแคบจนเกิดอาการนอนกรนได้

 

  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคทางหัวใจ โรคเบาหวาน โรคไต โรคภูมิแพ้

 

  • การทานยาที่ส่งผลต่อการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อ

 

  • ผู้ที่มีประวัติการสูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ

 

 

นอนกรนแบบใดที่ควรเข้าพบแพทย์

 

  • ขณะหลับมีเสียงกรนที่ดังมาก จนรบกวนผู้อื่นที่นอนร่วมเตียงด้วย

 

  • มีอาการปวดศีรษะตอนเช้า, นอนไม่เต็มอิ่ม, ตื่นบ่อยและรู้สึกไม่สดชื่น

 

 

ง่วงนอนระหว่างวัน

 

 

  • ระหว่างวันจะง่วงนอนมากผิดปกติ, หงุดหงิด, อารมณ์ไม่ดี

 

  • ผู้ร่วมเตียงสามารถสังเกตเห็นถึงการหายใจที่ไม่สม่ำเสมอ โดยจะมีเสียงกรนแต่จะหยุดเป็นช่วง บางทีอาจจะสะดุ้งเฮือกเนื่องจากหยุดหายใจชั่วขณะ

 

 

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ อันตรายสูงสุดจากการนอนกรน

 

หากเป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับในระดับที่รุนแรง จะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ ผ่านทางโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือโรคหัวใจวาย เป็นต้น หรือถ้าหากผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว อาจจะยิ่งเพิ่มโอกาสเสียชีวิตขณะหลับได้

 

 

การวินิจฉัยอาการนอนกรน

 

 

sleeptest

 

 

แพทย์จะทำการซักถามประวัติอาการ ร่วมกับการตรวจวินิจฉัยอวัยวะอื่น ๆ ผ่านการเอกซเรย์ เช่น กะโหลก กระดูกใบหน้า เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถวินิจฉัยอาการนอนกรนได้จากการตรวจการนอนหลับ (Polysomnography) หรือที่เรารู้จักกันดีว่า Sleep Test หากพบว่าอาการดังกล่าวไม่ได้มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับระดับรุนแรงร่วมด้วย ยังถือว่าไม่น่าเป็นห่วงมาก แต่ถ้าหากพบว่ามีความเสี่ยงในระดับที่อันตรายต้องหาแนวทางในการรักษาโดยเร็วที่สุด

 

 

การแก้ไขปัญหาการนอนกรนเบื้องต้น 

 

หากพบว่าอาการนอนกรนไม่ได้อยู่ในระดับที่อันตราย ผู้ป่วยสามารถแก้ไขอาการเบื้องต้นได้ ดังนี้

 

  • ปรับเปลี่ยนท่านอนให้ศีรษะอยู่สูงกว่าลำตัว

 

  • รักษาน้ำหนักให้ได้ตามมาตรฐาน 

 

  • งดการสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์

 

  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

 

 

ปรับพฤติกรรมการนอน

 

 

  • ปรับพฤติกรรมการนอนให้ได้ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน

 

  • หลีกเลี่ยงการใช้หรือรับประทานยาที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงนอน

 

 

การเตรียมตัวเพื่อเข้ารับการตรวจอาการนอนกรน

 

  • ผู้ป่วยควรทำความสะอาดศีรษะก่อนเข้ารับการตรวจ

 

  • ไม่ควรใส่น้ำมันหรือครีมที่ผม เพราะแพทย์จะมีการติดตั้งอุปกรณ์ที่หนังศีรษะบริเวณที่ไม่มีไขมัน เพื่อให้สัญญาณกราฟชัดเจนมากที่สุด และสามารถอ่านระดับได้ถูกต้อง แม่นยำ

 

  • ห้ามทาแป้งและครีม ที่บริเวณใบหน้า ขา หรือคอ

 

  • หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนเข้ารับการตรวจ

 

  • ห้ามรับประทานยานอนหลับหรือยาถ่าย เพราะยาถ่ายจะทำให้การตรวจไม่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ส่วนยานอนหลับอาจส่งผลให้การนอนหลับไม่เป็นไปตามปกติ

 

 

อาการนอนกรน หลายท่านอาจมองว่าเป็นปัญหาสุขภาพเพียงเล็กน้อย แต่ความจริงแล้วกลับแฝงไปด้วยอันตรายที่เราไม่ควรไว้วางใจ ด้วยเหตุนี้จึงไม่ควรละเลย และถ้าหากพบว่าตนเองมีอาการนอนกรน ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันปัญหารุนแรงที่อาจตามมาหากผู้ป่วยปล่อยปละละเลย



 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

 

เช็กความเสี่ยงภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

 

นอนมากเกินไป แต่ทำไมตื่นมายังง่วงอยู่