ชิคุนกุนยา ไม่ใช่ชื่อศิลปินเกาหลี หรือชื่อของตัวละครในการ์ตูนญี่ปุ่น แต่เป็นชื่อโรคที่มาจากภาษาถิ่นมากอนดีของแอฟริกาใต้ (Chikungunya) มีความหมายว่าอาการงอตัว ซึ่งที่มาของคำนี้มาจากอาการของผู้ป่วยที่ได้รับความทุกข์ทรมานจากการปวดข้ออย่างรุนแรงจนตัวบิดงอ ชิคุนกุนยาเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส และเป็นโรคที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน การรู้จักโรคนี้ไว้จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อรู้เท่าทันโรคที่อาจเกิดขึ้น และเรียนรู้ที่จะป้องกันการเกิดโรคได้อีกด้วย
ต้นกำเนิดของโรคนี้มาจากทวีปแอฟริกาใต้ พบการระบาดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2495 ในประเทศแทนซาเนีย โดยตัวร้ายที่นำพาโรคชิคุนกุนยามาสู่มนุษย์ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ไกลตัวเราเลย แต่เป็น “ยุง” สิ่งมีชีวิตตัวเล็ก ๆ ที่สามารถพบได้ง่ายในชีวิตประจำวัน นอกจากจะสร้างความรำคาญ และดูดเลือดของเราแล้ว ยังเป็นพาหะนำพาโรคร้ายมาสู่ตัวเราด้วย
เกิดจากการติดเชื้อไวรัส “ชิคุนกุนยาไวรัส” ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 สายพันธุ์ เช่น AUL (Asian Urban), WA (West Africa), IOL (Indian Ocean) และ ECSA (Central-South African) โดยไวรัสนี้พบการแพร่ระบาดในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ซึ่งสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดในประเทศไทย คือ สายพันธุ์ ECSA - IOL ที่มีศักยภาพแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว
มีไข้ขึ้นสูงเฉียบพลัน อาจสูงถึง 40 องศาเซลเซียส โดยหลังจากนั้นประมาณ 2 - 3 วัน อาการไข้จะเริ่มบรรเทาลง
คลื่นไส้, อาเจียน
อ่อนเพลีย, รับประทานอาหารไม่ได้
ปวดศีรษะมาก
ปวดกล้ามเนื้อ
ตาแดง
มีผื่นแดงตามร่างกาย
ปวดตามข้อเล็ก ๆ เช่น ข้อนิ้วมือและข้อนิ้วเท้า เป็นต้น อาจมีภาวะข้ออักเสบ ซึ่งจะพบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก หากเป็นผู้ใหญ่อายุ 45 ปีขึ้นไป อาจมีภาวะของข้ออักเสบเรื้อรังได้ แต่โดยทั่วไปอาการปวดข้อสามารถหายได้เองภายใน 2 สัปดาห์
โรคนี้มักระบาดหนักในช่วงฤดูฝน หรือบริเวณที่มีน้ำขัง เพราะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุง สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศ และทุกวัย แต่จะอันตรายมากในเด็กเล็ก เมื่อเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายจะใช้ระยะฟักตัวประมาณ 1-12 วัน และจะแสดงอาการ หลังได้รับเชื้อไปแล้ว 3-7 วัน
ในผู้ป่วยบางราย อาจจะเกิดอาการแทรกซ้อน เช่น มีเลือดออก, มีแผลตุ่มน้ำที่ผิวหนัง หรือโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ขึ้นได้ ทั้งนี้ ภาวะแทรกซ้อนของโรคนี้ อาจมีอาการที่รุนแรงเกิดขึ้น แต่มีโอกาสพบได้น้อยมาก เช่น ม่านตาอักเสบ, กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น
อย่างที่ทราบกันว่าโรคชิคุนกุนยากับไข้เลือดออก จะมีอาการที่คล้ายกันอย่างมาก และยังมีต้นกำเนิดมาจากยุงเหมือนกัน แต่ต่างกันเพียงโรคชิคุนกุนยา จะมีอาการปวดตามข้ออย่างรุนแรง และสร้างความทรมานให้กับผู้ป่วยเป็นอย่างมาก จึงเป็นที่มาของชื่อโรคชิคุนกุนยานั่นเอง นอกจากนี้ยังไม่พบการรั่วของพลาสมาออกมานอกเส้นเลือดของผู้ป่วย โอกาสที่จะเกิดอาการช็อกจึงน้อยมาก พูดง่าย ๆ คือความรุนแรงของโรคนี้ไม่อันตรายเท่าโรคไข้เลือดออกที่อาจถึงแก่ชีวิตได้
แพทย์จะซักประวัติกับอาการต่าง ๆ ของผู้ป่วย หลังจากนั้นจะทำการเจาะเลือดและส่งทางห้องปฏิบัติการ เพื่อหาเชื้อไวรัส โดยจะทราบผลภายใน 1-2 วัน หรืออาจจะนานถึง 1-2 สัปดาห์ได้
โรคนี้ยังไม่มีวิธีการรักษา และวัคซีนป้องกัน มีเพียงการรักษาตามอาการของผู้ป่วย เมื่อผู้ป่วยมีอาการปวดข้อ หรือมีไข้ แพทย์จะให้รับประทานยาพาราเซตามอล (Paracetamol) เพื่อบรรเทาอาการปวด แต่ไม่ควรรับประทานยาแอสไพริน (Aspirin) เพราะอาจทำให้เกล็ดเลือดไม่จับตัวเป็นลิ่ม และเกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย นอกจากนี้ควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ และควรให้ผู้ป่วยนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
จัดการพื้นที่ไม่ให้มีน้ำท่วมขัง ปิดฝาภาชนะใส่น้ำทุกครั้งหลังใช้งานเสร็จแล้ว เพื่อทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
ควรหมั่นเปลี่ยนน้ำในกระถางต้นไม้ หรือแจกันที่ใช้ประดับบ้านทุกอาทิตย์ เพื่อเป็นการตัดวงจรชีวิตของลูกน้ำยุงลาย
ทำความสะอาดบ้านเป็นประจำ โดยเฉพาะการจัดพื้นที่ไม่ให้มีมุมอับที่เป็นที่เกาะพักของยุงลาย
ติดมุ้งลวด หรือกางมุ้งเพื่อป้องกันการถูกยุงกัด
สวมใส่เสื้อผ้าที่มิดชิด รวมถึงฉีดสเปรย์หรือทายากันยุงเพื่อไม่ให้ยุงกัด
ปิดประตูกับหน้าต่างให้สนิท ให้เปิดเครื่องปรับอากาศหรือพัดลม แทนการเปิดหน้าต่างเพื่อระบายอากาศ
นอกจากวิธีป้องกันโรคที่กล่าวไปแล้วนั้น ยังมีวิธีไล่ยุงไปให้ห่างจากตัวเรา และคนในครอบครัวอีกหนึ่งประการ โดยอุปกรณ์ไล่ยุงที่เราจะแนะนำนั้น ไม่ต้องไปหาจากที่ไหนไกล แต่เป็นสมุนไพรที่หาง่าย ปลอดภัยจากสารเคมี และราคาไม่แพง เช่น
ตะไคร้ บ้านหลังไหนที่ยุงเยอะแนะนำให้ปลูกต้นตะไคร้ไว้ เพราะในตะไคร้จะมีน้ำมันหอมระเหยที่เป็นสารออกฤทธิ์ไล่ยุงได้
กะเพรา สามารถนำใบกะเพรามาขยี้ให้น้ำมันหอมระเหยออกมาไล่ยุงได้
พืชในตระกูลส้ม เช่น ส้ม ส้มโอ เป็นต้น ส่วนใหญ่จะใช้เปลือกส้มมาผึ่งให้แห้ง แล้วนำมาเผาไฟ เพียงเท่านี้จะได้น้ำมันหอมระเหยที่มีสรรพคุณไล่ยุงเป็นอย่างดี
ชิคุนกุนยา เป็นโรคที่ยังไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้ เมื่อเป็นแล้วย่อมสร้างความเจ็บปวด และความยากลำบากต่อการใช้ชีวิต หากพบว่าตนเองมีอาการผิดปกติหรือเข้าข่ายที่จะเป็นโรคนี้ ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อรับรักษาที่เหมาะสมต่อไป
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ยาทากันยุง ป้องกันพาหะโรคร้ายในหน้าฝน ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย