ไตเรื้อรัง
ไตเรื้อรัง อันตรายของผู้ชอบกินเค็มที่ควรระวัง

 

โรคไตเรื้อรัง (Chronic Kidney Disease หรือ CKD) คือ ภาวะที่ไตมีการทำงานผิดปกติ หรือเสื่อมสภาพลง โดยมีระยะเวลาของการทำงานผิดปกติตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป ทำให้การกำจัดของเสียออกจากเลือด และการกำจัดสารพิษออกจากร่างกายเกิดความบกพร่อง ส่งผลให้ไม่สามารถขับของเสีย และน้ำส่วนเกินออกจากกระแสเลือดได้ โดยในระยะแรกจะไม่แสดงอาการใด ๆ หากปล่อยไว้เป็นเวลานาน และไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจทำให้เสี่ยงเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้

 

 

สาเหตุของโรคไตเรื้อรัง

 

สาเหตุส่วนใหญ่ร้อยละ 70 เกิดจากโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง ส่วนโรคอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุอีก ได้แก่ โรคเกาต์ โรคนิ่วในไต เป็นต้น โดยโรคเหล่านี้ย่อมมีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหาร และหากบริโภคอาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูงจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้กลายเป็นโรคไตเรื้อรัง และไตวายได้ง่ายขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้โรคทางพันธุกรรม เช่น โรคถุงน้ำที่ไตกับการได้รับยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs เป็นระยะเวลานาน อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดโรคนี้ได้เช่นกัน

 

 

คนไทยกินเค็มเสี่ยงเป็นโรคไตเรื้อรังมากขึ้น

 

คนไทยมีพฤติกรรมการทานอาหารที่มีโซเดียมสูง โดยเฉพาะคนในวัยทำงานที่บริโภคอาหารสำเร็จรูปที่มีปริมาณโซเดียมสูงจึงมีแนวโน้มป่วยเพิ่มขึ้น ซึ่งมีสถิติผู้ป่วยรวมเกือบ 15 ล้านคน แต่คนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าตัวเองป่วย เพราะในระยะแรกจะไม่แสดงอาการใด ๆ จะแสดงอาการต่อเมื่อไตเสียหายไปมากแล้ว โดยต้องได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายไต ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย และสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาจำนวนมาก

 

 

อาการของโรคไตเรื้อรัง

 

  • เบื่ออาหาร

 

  • คลื่นไส้ อาเจียน และอาจอาเจียนเป็นเลือด

 

  • อ่อนเพลีย

 

  • ตัวซีด โลหิตจาง

 

 

คันเนื้อตัว

 

 

  • คันตามเนื้อตัว

 

  • อาจมีอาการชัก สมองหยุดทำงาน และหมดสติ

 

  • เป็นหมัน และหมดสมรรถภาพทางเพศ

 

  • มีอาการบวมบริเวณรอบดวงตา เท้า และท้อง โดยจะเป็นรอยบุ๋มเมื่อออกแรงกด

 

  • ในสตรีอาจพบว่ามีการขาดประจำเดือน

 

  • มีอาการปวดเอว หรือบริเวณหลังด้านข้าง

 

 

 

ระยะของโรคไตเรื้อรัง

 

สามารถแบ่งออกได้ 5 ระยะ ตามระดับอัตราการกรองของไต

 

  • ระยะที่ 1 อาจพบไตอักเสบและเกิดภาวะไตผิดปกติ เช่น มีโปรตีนรั่วอยู่ภายในปัสสาวะ แต่ว่าอัตราการกรองยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ

 

  • ระยะที่ 2 การทำงานของไตเริ่มลดลง แต่ยังไม่มีการแสดงอาการออกมา จะพบความผิดปกติคล้ายระยะแรก แต่อัตราการกรองมีการลดลงเล็กน้อย

 

  • ระยะที่ 3a พบว่าอัตราการกรองลดลงเล็กน้อยจนถึงปานกลาง

 

  • ระยะที่ 3b พบว่าอัตราการกรองมีการลดลงปานกลางจนถึงมาก

 

  • ระยะที่ 4 อัตราการกรองมีการลดลงอย่างมาก ผู้ป่วยอาจมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ผิวแห้งและมีการคัน เป็นต้น

 

  • ระยะที่ 5 เกิดไตวายระยะสุดท้าย อาจมีภาวะโลหิตจางรุนแรงเพิ่มขึ้น และมีการเสียสมดุลของแคลเซียม ฟอสเฟต และสารต่าง ๆ ในเลือด ส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะกระดูกบางและเปราะง่าย 

 

 

ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไตเรื้อรัง

 

 

ผู้สูงอายุ

 

 

  • ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี

 

  • ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคไต

 

  • ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น โรคเอสแอลอี 

 

  • ผู้ที่มีการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะมาหลายครั้ง

 

  • ผู้ที่รับประทานยาที่มีผลต่อไต เช่น ยารักษาโรคเบาหวาน เป็นต้น

 

  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต เป็นต้น

 

  • ผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ และสูบบุหรี่

 

 

ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากไตวายเรื้อรัง

 

  • ปอดอักเสบ ปลายประสาทอักเสบ และเยื่อหุ้มปอดอักเสบ

 

  • โรคทางหัวใจและหลอดเลือด เช่น เส้นเลือดอุดตัน หัวใจวาย หรือหัวใจขาดเลือด

 

  • ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานหนัก

 

  • มีภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง

 

  • อาจเกิดอาการ Uremia เป็นกลุ่มอาการในภาวะท้ายของโรคไตวาย ผู้ป่วยจะมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปลายประสาทเสื่อม เกิดความคิดสับสน ชัก และหมดสติ

 

 

การวินิจฉัยโรคไตเรื้อรัง

 

  • การตรวจปัสสาวะ เพื่อเช็คปริมาณของปัสสาวะที่ร่างกายได้ขับออกมา ซึ่งอาจมีการสังเกตโปรตีน เม็ดเลือดแดงและขาวปะปนออกมากับปัสสาวะ เพื่อดูการทำงานของไต

 

  • การตรวจเลือด เพื่อดูประสิทธิภาพการกรองของไต หากผู้ป่วยมีภาวะไตวาย ปริมาณของกรดยูเรีย ครีเอตินิน และไนโตรเจน จะตกค้างอยู่ในเลือดสูง

 

  • หาค่าประเมินการทำงานของไต แพทย์จะมีการหาค่า eGFR เพิ่มเติม เพื่อดูการทำงานของไตว่าสามารถกรองเลือดได้เท่าไรต่อนาที 

 

  • การตรวจอัลตราซาวด์ และเอกซเรย์ด้วยคอมพิวเตอร์ แพทย์จะใช้วิธีการนี้เพื่อดูภาพการทำงานไต และทางเดินปัสสาวะของผู้ป่วยได้ชัดเจนขึ้น 

 

 

การรักษาโรคไตเรื้อรัง

 

  • ล้างช่องท้องด้วยน้ำยา (CAPD) เป็นการใส่น้ำยาเข้าไปในช่องท้องประมาณ 2 ลิตร โดยทำวันละ 4 ครั้ง ครั้งละ 6 ชั่วโมงอย่างสม่ำเสมอทุกวัน 

 

  • การฟอกเลือด (Hemodialysis) เป็นการนำเลือดเสียผ่านเข้าไปในเครื่องกรองเลือด และนำเลือดที่ถูกกรองสะอาดแล้วกลับสู่ร่างกายอีกครั้ง

 

  • การปลูกถ่ายไต (Kidney Transplantation) ผ่าตัดเปลี่ยนไตจะทำได้ 2 วิธี คือ ผู้ป่วยจะได้รับบริจาคอวัยวะจากสภากาชาดไทย หรืออาจได้รับการปลูกถ่ายไตจากญาติพี่น้องร่วมสายโลหิต หรือจากคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมายมาอย่างน้อย 3 ปี

 

 

การป้องกันตนเองจากโรคไตเรื้อรัง

 

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

 

  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

 

 

ลดอาหารที่มีไขมัน

 

 

  • ลดอาหารที่มีไขมันสูง

 

  • หากเป็นโรคอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน ควรควบคุมน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

 

  • หลีกเลี่ยงยาที่มีผลต่อไต เช่น ยาสมุนไพร ยาลูกกลอน เป็นต้น

 

  • เข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

 

 

หากป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังควรดูแลตนเองอย่างไร

 

  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และผู้ป่วยโรคไตจะต้องจำกัดอาหาร โดยหลีกเลี่ยงอาหารที่มีปริมาณโซเดียมมาก และจำกัดอาหารที่มีรสจัด รวมถึงรับประทานเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ ไข่ และนมในปริมาณที่น้อยลง

 

  • หลีกเลี่ยงการทำงานหนัก หรือเล่นกีฬาที่หักโหมจนเกินไป

 

 

รับประทานยา

 

 

  • รับประทานยาตามที่หมอสั่งอย่างเคร่งครัด

 

 

ไตเรื้อรัง อาจนำไปสู่ภาวะไตวายเฉียบพลัน และทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้น การตรวจร่างกายตั้งแต่เนิ่น ๆ นอกจากจะช่วยให้เราค้นพบโรคที่ซ่อนอยู่แล้ว ยังช่วยให้เราสามารถรักษาโรคได้อย่างทันท่วงทีก่อนที่จะสายเกินแก้ หากผู้ป่วยมีอาการเข้าข่าย ให้รีบเข้าพบแพทย์ทันที เพื่อป้องกันความรุนแรงของโรคที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ที่อาจส่งผลให้เสียชีวิตได้ 



 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

 

โปรแกรมตรวจคัดกรองโรคไต

 

ไตเสื่อมจากการใช้ยา

 

ผงชูรส บริโภคอย่างไรไม่ให้กระทบต่อสุขภาพ