โรคไข้หวัด
ไข้หวัด โรคที่ทุกคนสามารถเป็นได้ตลอดปี

 

โรคอะไรเอ่ยที่เราสามารถเป็นได้ตลอดทั้งปี เป็นแล้วหายยังกลับมาเป็นได้อีก คำตอบ คือ โรคไข้หวัดนั่นเอง ต้องยอมรับจริง ๆ ว่าโรคร้ายหลายโรคมีปัจจัยการเกิดที่แตกต่างกัน หากเราดูแลสุขภาพอย่างดี ทั้งการทานอาหารที่มีประโยชน์, การออกกำลังกายเป็นประจำ แต่อาจยากที่จะหลีกหนีโรคไข้หวัดได้ เพราะโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสหลากหลายชนิด และเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ทุกฤดูกาล และอันตรายมากขึ้นในฤดูฝนกับฤดูหนาว ดังนั้นวันนี้เราจะมาเจาะลึกโรคไข้หวัดกัน

 

 

โรคไข้หวัดติดต่อได้อย่างไร ?

 

 

ขยี้ตา

 

 

โรคไข้หวัด เป็นเชื้อไวรัสที่อยู่ในน้ำลาย, น้ำมูก และเสมหะ สามารถติดต่อได้โดยการไอ, หายใจรดกัน หรือการสัมผัสกับผู้ป่วย เมื่อผู้ป่วยมีการสัมผัสกับผู้อื่น เชื้อหวัดจะติดคนนั้น เมื่อนำอวัยวะไปสัมผัสกับร่างกายของตนเอง เช่น แคะจมูก, ขยี้ตา เป็นต้น อาจทำให้เชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย จนกลายเป็นไข้หวัดได้ ผู้ป่วยจะเริ่มแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 10 - 12 ชั่วโมง และจะแสดงอาการชัดเจนที่สุดเมื่อได้รับเชื้อ 36 - 72 ชั่วโมง โดยสามารถแพร่ได้ทั้งก่อนเกิดอาการและหลัง 1 - 2 วันหลังเกิดอาการ

 

 

สาเหตุของการเกิดโรคไข้หวัด

 

โรคไข้หวัดเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มีอยู่มากมายหลายชนิด แต่ส่วนมากจะติดเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า ไรโนไวรัส (Rhinoviruses) เชื้อเหล่านี้จะเข้าสู่ร่างกายได้ผ่านช่องทางจมูก, ตา, ปาก หรือการรับมาจากอากาศรอบตัวของเรา นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคไข้หวัด เช่น เด็กที่มีอายุน้อย, ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือการอยู่ในสภาพอากาศที่เพิ่มความเสี่ยง เช่น ฤดูฝนและฤดูหนาว เป็นต้น

 

 

อาการของโรคไข้หวัดเป็นอย่างไร ?

 

 

ปวดศีรษะ

 

 

สำหรับอาการของโรคไข้หวัดเป็นสิ่งที่เรารู้ และเข้าใจกันอยู่แล้ว ได้แก่ อาการน้ำมูกไหล, ไอ, จาม, มีอาการคัดจมูก, ปวดศีรษะ และมีอุณหภูมิสูงขึ้นประมาณ 37 ถึง 39 องศาเซลเซียส สำหรับอาการอื่นที่อาจพบร่วมด้วยเมื่อเป็นโรคนี้ ได้แก่ มีอาการปวดหู, รู้สึกระคายเคืองที่ดวงตา, ปวดเมื่อยตามร่างกาย เป็นต้น อาการที่เกิดขึ้นจะมีความรุนแรงมากที่สุดในช่วง 3 วันแรก หลังจากนั้นอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นจนหายเป็นปกติ โดยปกติแล้วโรคไข้หวัดจะมีระยะเวลาอยู่ที่ประมาณ 2 อาทิตย์จึงจะหาย ถึงแม้จะเป็นโรคที่ดูเหมือนไม่อันตราย แต่ยังมีอาการเหล่านี้ที่ถือว่าเป็นอันตราย และต้องรีบเข้าพบแพทย์ในทันที ได้แก่

 

 

อาการในผู้ใหญ่ 

 

มีไข้สูงตั้งแต่ 38.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป เป็นเวลาตั้งแต่ 5 วันขึ้นไป มีปัญหาเรื่องการหายใจ เมื่อหายไข้แล้ววนกลับมามีอาการอีก และมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง

 

 

อาการในเด็ก 

 

เมื่อมีไข้สูงตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไปในเด็กเล็ก ต่อเนื่องตั้งแต่ 2 วันขึ้นไป หรืออาการไม่ดีขึ้น หายใจมีเสียง, ไม่อยากอาหาร, มีอาการปวดศีรษะ และไออย่างรุนแรง

 

 

ภาวะแทรกซ้อนของโรคไข้หวัด

 

  • เมื่อเป็นไข้หวัด อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีน้ำมูกข้นสีเหลืองและเขียว ร่วมกับมีเสมหะสีเขียว 

 

  • เมื่อผู้ป่วยติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วยแล้ว อาจเกิดหูชั้นกลางอักเสบ, ไซนัสอักเสบ หรือต่อมทอนซิลอักเสบได้

 

  • อาจมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น เช่น ปอดอักเสบ, เยื่อบุตาอักเสบ, หลอดลมอักเสบ เป็นต้น

 

  • หากผู้ป่วยมีโรคประจำตัว คือ โรคหอบหืด, ถุงลมโป่งพอง หากเป็นไข้หวัดอาจจะทำให้มีอาการหอบเหนื่อยรุนแรง

 

 

การวินิจฉัยโรคไข้หวัด

 

แพทย์จะทำการตรวจร่างกาย และอาการเบื้องต้น แต่อาจจะมีการวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจดูว่าผู้ป่วยเป็นไข้หวัดธรรมดา, ไข้หวัดใหญ่ หรือไข้หวัดที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตัวอื่น 

 

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ จะมีวิธีการตรวจ ดังนี้ 

 

  • การจำแนกเชื้อไวรัสจากไม้ป้ายคอ

 

  • การตรวจหาโปรตีนแอนติเจนของเชื้อไวรัส

 

  • การดูดน้ำจากหลังโพรงจมูก

 

 

การดูแลตนเองจากโรคไข้หวัด

 

วิธีการรักษาโรคนี้ คือ การคอยดูแลให้อาการบรรเทาลงตามขั้นตอนจนหายเป็นปกติ โดยมีวิธีการดูแลร่างกาย ได้แก่ 

 

  • การพักผ่อนให้เพียงพอ 

 

  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ใช้ร่างกายหนัก

 

 

ดื่มน้ำให้เพียงพอ

 

 

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย 

 

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย 

 

  • การรับประทานยาตามแพทย์สั่ง และหากมีอาการรุนแรงตามที่กล่าวมาข้างต้น ให้รีบเข้าพบแพทย์เพื่อรับการรักษา และควรดูแลอย่างใกล้ชิด

 

 

การป้องกันโรคไข้หวัด

 

โรคนี้สามารถเป็นได้ง่าย และการป้องกันอาจทำได้ยากแต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่สามารถป้องกันได้เลย ซึ่งหลัก ๆ แล้วเราสามารถหลีกเลี่ยงโรคนี้ได้ เช่น 

 

  • การไม่เข้าใกล้ผู้ป่วย และระวังเรื่องการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย 

 

  • หมั่นดูแลความสะอาดของร่างกายทั้งการล้างมือเป็นประจำหลังสัมผัสสิ่งของ หรือก่อน-หลังการรับประทานอาหาร 

 

  • หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น 

 

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

 

 

ออกกำลังกาย

 

 

  • หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ

 

  • ในส่วนของผู้ป่วยนั้นต้องให้ความสำคัญกับผู้คนรอบข้าง จึงควรสวมใส่หน้ากากอนามัยเสมอ และไม่เข้าไปในพื้นที่ผู้คนพลุกพล่าน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไข้หวัดให้กับผู้อื่น

 

 

นอกจากนี้ การเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ยังสามารถมีส่วนช่วยในการป้องกันโรคไข้หวัดได้ด้วยเช่นกัน ถึงแม้โรคนี้จะเป็นโรคที่ทุกคนเคยเป็น และมองว่าไม่รุนแรง แต่หากปล่อยไว้อาจเป็นอันตราย และมีผลกับการใช้ชีวิตประจำวันได้โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ในผู้ป่วยบางคน อาจจะมีภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายได้



 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

 

วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์

 

ตั้งครรภ์ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ไหมนะ

 

ทำไมต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ก่อนถึงหน้าฝน ?

 

ไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ โควิด-19 โรคอันตรายที่ควรระวังในฤดูฝน