เรื่องน่ารู้ของโรคลมชัก (Epilepsy)
เรื่องน่ารู้ของโรคลมชัก (Epilepsy)

สมอง เป็นอวัยวะที่มีเซลล์ประสาทนับแสนล้านเซลล์ ซึ่งแต่ละเซลล์จะทำงานประสานกันโดยสื่อสารกันผ่านทางคลื่นไฟฟ้าสมอง หากคลื่นไฟฟ้าเกิดการทำงานที่ผิดปกติสิ่งที่ตามมาคือ อาการชัก ซึ่งมักพบบ่อยในเด็ก และผู้สูงอายุ หากเกิดอาการชักในเด็กบ่อยครั้งอาจมีผลต่อพัฒนาการของเด็กได้ ผู้ปกครองและผู้ใกล้ชิดเมื่อพบว่าบุตรหลานของตนเองเกิดอาการชัก กระตุก หรือเกิดอาการวูบ เหม่อลอย เบลอ ควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและทำการรักษาไม่ให้กระทบต่อการเจริญเติบโตของเด็กนั่นเอง

 

โรคลมชักเกิดจากอะไร

 

โรคลมชัก (epilepsy) เกิดจากคลื่นไฟฟ้าในสมองส่วนกลางที่ควบคุมการทำงานของร่างกายเกิดความผิดปกติอย่างเฉียบพลัน ซึ่งคลื่นไฟฟ้าที่เกิดความผิดปกตินี้จะกระจายออกไปในบริเวณส่วนต่าง ๆ ของสมอง โดยอาการมักจะเกิดขึ้นได้ทั้งในขณะหลับ และขณะตื่น นอกจากนี้อาจเกิดจากพันธุกรรม หรือสมองติดเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย โดยโรคนี้จะมีอาการที่แตกต่างกันไปตามความผิดปกติของส่วนสมอง ดังนี้
 

  • อาการชักที่มีเกิดขึ้นกับสมองทั้งสองซีก (Generalized Seizures) ได้แก่
    • ชักแบบเหม่อลอย (Absence Seizures) มักเกิดขึ้นในเด็ก โดยจะเกิดอาการเหม่อลอย อาจมีการกะพริบตา หรือขยับริมฝีปากเพียงเล็กน้อย ซึ่งอาจทำให้เกิดการเสียการรับรู้ในระยะสั้น ๆ ได้
       
    • ชักแบบชักเกร็ง (Tonic Seizures) เกิดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อบริเวณหลัง แขน และขา
       
    • ชักแบบกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Atonic Seizures) เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงลง โดยจะไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อขณะเกิดอาการได้จนทำให้ผู้ป่วยหกล้มได้
       
    • ชักแบบชักกระตุก (Clonic Seizures) เกิดการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อที่ผิดปกติ ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวซ้ำ ๆ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อบริเวณคอ ใบหน้า และแขน
       
    • ชักแบบชักกระตุก และเกร็ง (Tonic-clonic Seizures) เกิดอาการกล้ามเนื้อเกร็งและกระตุกทำให้ผู้ป่วยล้ม และหมดสติได้ เมื่ออาการบรรเทาลง ผู้ป่วยอาจรู้สึกเหนื่อยหอบเนื่องจากอาการชักกระตุก
       
    • ชักแบบชักสะดุ้ง (Myoclonic Seizures) มักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน โดยจะเกิดอาการชักกระตุกบริเวณแขนและขาคล้ายกับโดนไฟฟ้าช็อต
       
  • อาการชักที่เกิดขึ้นกับสมองเฉพาะบางส่วน (Partial หรือ Focal Seizures) ทำให้เกิดอาการชักที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเท่านั้น มี 2 ประเภท ได้แก่
    • ชักแบบรู้ตัว (Simple Focal Seizures) ผู้ป่วยยังมีสติครบถ้วน แต่จะมีความรู้สึกแปลก ๆ เช่น รู้สึกเหมือนเดจาวู ประสาทการรับกลิ่น หรือรับรสชาติแปลกไป รู้สึกชาที่แขน และขา เป็นต้น
       
    • ชักแบบไม่รู้ตัว (Complex Partial Seizures) ผู้ป่วยไม่รู้ตัว และไม่สามารถจดจำได้ว่าเกิดอาการขึ้นเมื่อใด โดยมีสัญญาณเตือน เช่น ถูมือ ทำเสียงแปลก ๆ หมุนแขนไปรอบ ๆ จับเสื้อผ้า เล่นกับสิ่งของในมือ อยู่ในท่าทางแปลก ๆ เป็นต้น

 

 

ลมชัก

 

 

โรคลมชักจะเกิดขึ้นตอนไหน

 

โรคนี้เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งขณะหลับ และขณะตื่น ซึ่งมักจะพบมากในช่วงที่มีปัจจัยกระตุ้น เช่น เป็นไข้สูง หรืออดนอนติดต่อกันเป็นเวลานาน เป็นต้น โดยอาการชักมักจะเกิดขึ้นใน 1-5 นาที หากมีอาการนานเกิน 5 นาทีควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล

 

การวินิจฉัยและการรักษาโรคลมชัก

 

แพทย์จะทำการเอกซเรย์สมองด้วยเครื่อง CT Scan เพื่อให้แพทย์เห็นภาพความผิดปกติของสมองที่อาจเป็นสาเหตุ หรือจุดกำเนิดของอาการชักได้ ส่วนวิธีการรักษาแพทย์จะให้ยากันชักเพื่อยับยั้งไม่ให้เกิดอาการชัก แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยรับประทานยาแล้วไม่ได้ผลแพทย์จะทำการผ่าตัดเพื่อผ่าเอาจุดกำเนิดของการเกิดโรคนี้ออก

 

การปฐมพยาบาลเมื่อคนใกล้ตัวเป็นโรคลมชัก

 

  • จับผู้ป่วยนอนตะแคงหันศีรษะไปด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อป้องกันลิ้นตกไปอุดทางเดินหายใจ
     
  • หากผู้ป่วยสวมแว่นตา หรือฟันปลอมควรถอดออกให้ผู้ป่วย
     
  • ห้ามใช้นิ้ว หรือสิ่งแปลกปลอมใส่ในปากผู้ป่วยขณะชัก เพราะอาจเกิดอันตรายต่อผู้ป่วยและผู้ช่วยเหลือได้
     
  • หลังเกิดอาการชัก ผู้ป่วยอาจหมดสติ ห้ามป้อนอาหาร หรือยาจนกว่าจะเป็นปกติ เพราะอาจเกิดอาการสำลัก
     
  • ถ้าชักนานกว่าปกติ หรือผู้ป่วยหมดสติเป็นเวลานาน ควรนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด

 

การดูแลตัวเองของผู้ป่วยโรคลมชัก

 

สามารถใช้หลักการทั้งดูแลตนเองทั่วไป ดังนี้

  • รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ และห้ามหยุดยาด้วยตนเอง
     
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ พยายามไม่อดนอน และหลีกเลี่ยงความเครียด
     
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
     
  • หากมีไข้สูง ควรรีบรักษาให้หายโดยเร็วที่สุด
     
  • หลีกเลี่ยงการใช้ของมีคม หรือหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจเกิดอันตราย เมื่อมีอาการชักกำเริบ เช่น ขับรถ การปีนขึ้นที่สูง เป็นต้น

 

โรคลมชักเป็นโรคที่ควบคุมไม่ได้ หากผู้ป่วยมีอาการมากกว่า 4 ครั้งต่อเดือน ควรรีบพบแพทย์ เพราะมีความเสี่ยงที่จะชักต่อเนื่อง หรือชักจนเสียชีวิตได้



 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

 

 

ตรวจหาความผิดปกติโรคทางสมอง ด้วยการตรวจโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI