การออกกำลังกายฉบับคนเป็นโรคหัวใจ
การออกกำลังกายฉบับคนเป็นโรคหัวใจ

การออกกำลังกายเป็นรากฐานของการสร้างสุขภาพที่ดีเพื่อต่อสู้กับโรคต่าง ๆ แต่สำหรับคนเป็นโรคหัวใจจะไม่สามารถออกกำลังกายได้เทียบเท่ากับคนทั่วไป เนื่องจากต้องให้ความสำคัญของการทำงานของหัวใจ หากหัวใจทำงานหนักเกินไปอาจส่งผลเสียให้อาการกำเริบได้ การออกกำลังกายที่คนเป็นโรคหัวใจสามารถทำได้มีอยู่หลายชนิด เช่น เต้นแอโรบิก เดินเร็ว หรือตีปิงปอง เป็นต้น

 

คนเป็นโรคหัวใจควรออกกำลังกายในระดับไหน

 

การออกกำลังกายของผู้ป่วยโรคหัวใจสามารถออกกำลังกายได้ตั้งแต่ระดับเบาจนถึงระดับปานกลาง ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายแบบหนักเพื่อลดความเสี่ยงขณะออกกำลังกาย ได้แก่

 

  • การออกกำลังกายแบบเบา (Low Intensity) เช่น การเดินเร็ว การวิ่งเหยาะ ๆ ปั่นจักรยานในบ้าน เป็นต้น
     
  • การออกกำลังกายแบบปานกลาง (Moderate Intensity) เช่น ว่ายน้ำ เต้นแอโรบิก ตีปิงปอง เป็นต้น

 

นอกจากนี้กิจกรรมอื่น ๆ ที่สามารถทำได้ยังมีอีกมากมาย เช่น กอล์ฟ เทนนิส โดยจุดประสงค์ของการออกกำลังกายของผู้ป่วยโรคนี้คือการบริหารกล้ามเนื้อมัดใหญ่ และการทำงานของหัวใจให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

โรคหัวใจการออกกำลังกาย

 

ข้อปฏิบัติในการออกกำลังกายของผู้ป่วยโรคหัวใจ

 

  • ควรปรึกษาแพทย์ก่อนออกกำลังกายเพื่อประเมินความเสี่ยง และการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับชนิดของโรคหัวใจ
     
  • ทำการอบอุ่นร่างกายประมาณ 15 นาทีก่อนออกกำลังกายจริง
     
  • ออกกำลังกายเป็นประจำให้ได้สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง ประมาณ 20-30 นาทีต่อครั้ง
     
  • เลือกสถานที่อากาศถ่ายเท ไม่แออัด และสวมเสื้อผ้าสบาย ๆ ไม่ทำให้ร่างกายร้อน
     
  • ห้ามกลั้นหายใจขณะออกกำลังกาย พยายามหายใจให้เป็นปกติ
     
  • ไม่ควรออกกำลังกายตามลำพัง และต้องพกยาประจำตัวไปด้วยทุกครั้ง

 

เมื่อมีอาการหัวใจกำเริบขณะออกกำลังกายควรทำอย่างไร

 

หากระหว่างออกกำลังกายรู้สึกว่าอัตราการเต้นของหัวใจเริ่มผิดจังหวะ หรือหายใจไม่สะดวก แน่นหน้าอก ต้องหยุดพักการออกกำลังกายในทันที หากนั่งพักแล้วอมหรือพ่นยาใต้ลิ้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรือเกิดอาการแทรกซ้อน เช่น เวียนศีรษะ หรือเดินเซ ให้รีบพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย ดังนั้นด้วยความเสี่ยงที่ยังมีอยู่ผู้ป่วยจึงไม่สามารถเลือกกิจกรรมในการออกกำลังกายได้เอง แต่ต้องได้รับการประเมิน และคำแนะนำจากแพทย์เท่านั้น

 

การออกกำลังกายอย่างระมัดระวังเป็นสิ่งสำคัญของผู้ป่วยโรคหัวใจ เนื่องจากสามารถช่วยให้การทำงานของหัวใจมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดโอกาสการเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ควรพึงปฏิบัติภายใต้ความไม่ประมาท และความรอบคอบ