โรคเฮอร์แปงไจนา (Herpangina) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่มักพบได้บ่อยในเด็กเล็กโดยเฉพาะช่วงฤดูฝน การทำความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุ, อาการ หรือการรักษาโรค อาจเป็นส่วนช่วยให้ผู้ปกครองสามารถดูแลและป้องกันบุตรหลานของท่านให้ห่างไกลจากโรคนี้ได้
เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกันกับโรคมือ เท้า ปาก แต่ว่าเฮอร์แปงไจนาแผลจะเกิดขึ้นเฉพาะที่ปาก โดยเชื้อไวรัสสามารถแพร่กระจายผ่านทางน้ำลาย, น้ำมูก, อุจจาระ หรือการสัมผัสวัตถุสิ่งของที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ ซึ่งหากผู้ป่วยได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายแล้ว อาการจะเริ่มแสดงหลังจาก 3-14 วันหลังได้รับเชื้อ โดยผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่วันแรกที่มีอาการ ไปจนถึงตอนที่หายป่วยจากโรคแล้ว ถ้านับเป็นระยะเวลาจะประมาณ 1-2 สัปดาห์หลังจากได้รับเชื้อ
มีไข้ขึ้นสูงแบบเฉียบพลัน, ปวดศีรษะ
เจ็บคอ, กลืนอาหารลำบาก, อาเจียน
ปวดเมื่อยตามร่างกาย
ปวดท้อง, เบื่ออาหาร
พบแผลเล็ก ๆ หรือตุ่มใสที่บริเวณปาก, เพดานอ่อน, ต่อมทอนซิล, ลิ้นไก่ หรือบริเวณคอหอยด้านหลัง เป็นต้น
โรคนี้จะพบได้ในคนทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะในเด็กเล็กอายุ 3-10 ปี เพราะระบบภูมิคุ้มกันที่ยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ นอกจากนี้ การที่เด็กอยู่ในสถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันเยอะ เช่น โรงเรียนหรือสถานรับเลี้ยงเด็ก อาจช่วยเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อได้อีกด้วย
ทั้งสองโรคนี้จะเกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเดียวกัน แต่จะมีลักษณะอาการที่แตกต่างกัน คือ โรคมือ เท้า ปาก จะมีผื่นหรือตุ่มน้ำใส, มีไข้ต่ำ ซึ่งจะพบรอยแผลที่บริเวณมือ เท้า และปาก ส่วนเฮอร์แปงไจนา จะพบรอยแผลแค่เฉพาะบริเวณช่องปากเท่านั้น อาการมักมีไข้สูงแบบเฉียบพลันกับเจ็บคอมาก ทั้งสองโรคนี้สามารถหายได้เองภายในเวลาไม่เกิน 10 วัน แต่ควรเฝ้าระวังไว้ เพราะอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะขาดน้ำ, ไข้ขึ้นสูงเกิน 3 วัน, โรคเยื่อสมองอักเสบ หรือถ้าหากเป็นคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อาจทำให้เด็กคลอดก่อนกำหนดได้
เบื้องต้น แพทย์จะซักถามอาการและทำการตรวจร่างกายของผู้ป่วย โดยเฉพาะบริเวณช่องปากกับลำคอเพื่อหาลักษณะเฉพาะของแผล ซึ่งหากแพทย์ต้องการผลวินิจฉัยเพิ่ม อาจมีการตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจปัสสาวะ, การตรวจเลือดเพื่อหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ หรือการเก็บตัวอย่างของเหลวจากภายในโพรงจมูก เป็นต้น
ณ ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีการรักษาโรคเฮอร์แปงไจนาโดยเฉพาะ ทำได้เพียงบรรเทาอาการ เช่น
การให้ยาลดไข้และยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล
ควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำ
หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด เพราะอาจทำให้แผลที่ปากเกิดการระคายเคืองขึ้นได้
รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ ทั้งก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ
หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด หรือสถานที่ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ
ทำความสะอาดภาชนะ, ของเล่นที่ผู้ป่วยสัมผัสด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
สอนเด็กให้ปิดปาก, จมูกทุกครั้งขณะจามหรือไอ เพื่อลดการแพร่เชื้อ
หลีกเลี่ยงการสัมผัสและการใกล้ชิดกับผู้ป่วย
ควรให้ผู้ป่วยหยุด-พักการเรียนจนกว่าจะหายสนิท
ออกกำลังกายและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
การสังเกตอาการหรือการดูแลสุขอนามัยของเด็กอย่างใกล้ชิด จะช่วยให้ลดการติดเชื้อและแพร่กระจายของโรคเฮอร์แปงไจนาได้ หากผู้ปกครองท่านใดที่เริ่มสังเกตว่าบุตรหลานมีอาการเข้าข่ายโรคนี้ ควรพาเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย หากพบว่าเป็นโรคเฮอร์แปงไจนา จะได้เข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง