ความดันโลหิต
รู้จักความดันโลหิต สูงหรือต่ำเกินไปอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้

 

ปัญหาสุขภาพที่ใครสักคนหนึ่งมีโอกาสเสี่ยงเป็นได้มีหลายโรค เนื่องจากปัจจัยรอบตัวที่เต็มไปด้วยมลพิษและเชื้อโรคที่มากขึ้น แต่หลายคนอาจลืมไปแล้วว่าหนึ่งในโรคที่ควรระวังและมีโอกาสเกิดขึ้นได้ทุกยุคสมัยโดยไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับมลภาวะรอบตัว คือ โรคความดันโลหิต ที่มีทั้งความดันโลหิตสูงและความดันโลหิตต่ำ ด้วยความเสี่ยงที่สามารถเป็นได้ทุกช่วงวัย เราจึงควรศึกษาข้อมูลของโรคนี้ก่อนจะสายเกินไป

 

 

ความดันโลหิตคืออะไร ?

 

ความดันโลหิตเป็นค่าความดันของกระแสเลือดที่ส่งแรงกระทบกับผนังหลอดเลือดแดง โดยเกิดจากกระบวนการสูบฉีดเลือดของหัวใจ สามารถวัดความดันโลหิตได้ 2 ค่า คือ ค่าความดันช่วงบนจากการบีบตัวของหัวใจ และค่าความดันช่วงล่างจากการคลายตัวของหัวใจ ซึ่งความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากค่าความดันโลหิต คือ ความดันโลหิตสูง และความดันโลหิตต่ำ โดยเราสามารถตรวจหาอาการดังกล่าวได้ด้วยการวัดค่าความดันโลหิต

 

 

การเตรียมตัวเพื่อเข้าวัดความดันโลหิต

 

  • ก่อนวัดความดันโลหิต 30 นาที ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน แอลกอฮอล์ กาแฟ ไม่ควรออกกำลังกาย และควรปรับสภาวะอารมณ์ให้เป็นปกติ ไม่ควรมีภาวะทางอารมณ์เหล่านี้ เช่น โมโห โกรธ เครียด เป็นต้น

 

  • สวมใส่เสื้อผ้าสบาย ๆ  ไม่รัดแน่นจนเกินไป

 

  • พักก่อนทำการตรวจวัดความดันเป็นเวลา 5-15 นาที

 

  • ควรปัสสาวะก่อนทำการวัดความดัน

 

  • ไม่ควรพูดคุยมากเกินไปในขณะที่ทำการวัดความดัน

 

 

ความดันโลหิตต่ำ คือ ? 

 

เป็นภาวะที่ความดันโลหิตต่ำกว่า 90/60 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งความดันโลหิตต่ำอาจเกิดจากความดันเลือดซิสโตลิกและไดแอสโตลิกต่ำเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรืออาจเกิดขึ้นทั้งคู่ได้ โดยทั่วไปอาการของความดันโลหิตต่ำอาจหายเองได้หากผ่านไปช่วงขณะหนึ่ง แต่บางรายที่มีอาการรุนแรง จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา เพื่อประเมินความรุนแรงของอาการต่อไป

 

 

สาเหตุของการเกิดความดันโลหิตต่ำ

 

  • ภาวะขาดสารอาหาร โดยเฉพาะวิตามินซี โปรตีน ส่งผลให้เนื้อเยื่อรอบผนังหลอดเลือดแดงไม่แข็งแรงและเกิดการคลายตัวมากเกินไป

 

  • มีการสูญเสียโลหิตกะทันหัน เช่น การเสียเลือดขณะเกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น

 

  • การสูญเสียน้ำกะทันหัน เช่น ท้องเสียหรือเหงื่อออก

 

  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคโลหิตจาง หรือโรคต่อมไร้ท่อ เป็นต้น 

 

  • การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ หรือยาลดความดัน

 

 

ความเครียด

 

 

  • ความเครียด ภาวะซึมเศร้า พักผ่อนน้อย

 

 

อาการของความดันโลหิตต่ำ

 

ปกติแล้วความดันโลหิตต่ำจะไม่ก่อให้เกิดอาการใด ๆ แต่หากอยู่ในภาวะที่เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ผู้ป่วยจะมีอาการเกิดขึ้นชั่วคราว ดังนี้

 

 

เป็นลมกะทันหัน

 

 

 

  • ใจเต้นแรง ใจสั่น

 

  • กระสับกระส่าย ขาดสมาธิ 

 

  • ตาพร่ามัว คลื่นไส้

 

  • เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย กระหายน้ำ

 

  • หน้ามืดเมื่อมีการเปลี่ยนท่านั่ง หรือลุกขึ้นยืนกะทันหัน 

 

 

ประเภทของความดันโลหิตต่ำ มีอะไรบ้าง ? 

 

ความดันโลหิตต่ำหลังรับประทานอาหาร 

 

ส่วนมากจะมีผลกระทบต่อผู้สูงอายุ ซึ่งการรับประทานอาหารเยอะเกินไป อาจทำให้เลือดไหลไปที่ระบบทางเดินอาหารมากกว่าปกติ

 

ความดันโลหิตต่ำจากความเสียหายของระบบประสาท

 

อาการของความดันโลหิตต่ำประเภทนี้พบได้น้อยมาก ซึ่งหากเกิดอาการขึ้นมา จะส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อระบบประสาทส่วนกลางที่เป็นตัวควบคุมการทำงานของระบบประสาท เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต หรือการหายใจ เป็นต้น ทำให้ไม่สามารถควบคุมได้ อาจส่งผลกระทบให้เกิดความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืน และความดันโลหิตสูงเมื่อนอน 

 

ความดันโลหิตต่ำจากความผิดปกติของสมอง

 

ส่วนมากจะเกิดขึ้นในเด็กและผู้ใหญ่ ความดันโลหิตต่ำประเภทนี้เกิดมาจากความผิดพลาดของสมองและหัวใจ ทำให้เป็นสาเหตุของความดันโลหิตต่ำหลังจากยืนเป็นเวลานาน

 

ความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนอิริยาบถแบบกะทันหัน

 

เกิดจากความดันโลหิตที่ลดลงอย่างเฉียบพลัน เมื่อลุกขึ้นยืนหรือนั่ง โดยระยะเวลาของอาการจะอยู่ประมาณ 5 - 10 นาทีหลังจากมีการเปลี่ยนอิริยาบถ 

 

 

การวินิจฉัยความดันโลหิตต่ำ 

 

  • การตรวจเลือด เป็นการเก็บตัวอย่างเลือดไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจสอบสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ

 

  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เป็นการทดสอบจังหวะการเต้นของหัวใจ ว่ามีความสม่ำเสมอหรือไม่

 

  • การทดสอบระบบประสาทอัตโนมัติหัวใจด้วยเตียงปรับระดับ เพื่อดูค่าความดันโลหิตของผู้ป่วยขณะเปลี่ยนอิริยาบถ

 

  • การบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง เพื่อบันทึกการทำงานของหัวใจตลอด 24 ชั่วโมงด้วยเครื่องบันทึกการทำงานของหัวใจขนาดเล็ก 

 

  • การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย เพื่อดูการทำงานของหัวใจขณะออกกำลังกาย เพราะความผิดปกติของหัวใจบางชนิด อาจตรวจพบเมื่อหัวใจทำงานหนักหรือมีการสูบฉีดเลือดมากขึ้น

 

  • ตรวจปัสสาวะใน 24 ชั่วโมง แพทย์จะส่งบรรจุภัณฑ์ให้กับผู้ป่วย เพื่อเก็บปัสสาวะในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง จากนั้นจะนำเข้าห้องตรวจปฏิบัติการ โดยระหว่างก่อนคืนบรรจุภัณฑ์ให้แพทย์ ผู้ป่วยควรเก็บปัสสาวะไว้ในที่เย็น

 

 

การดูแลร่างกายเมื่อความดันโลหิตต่ำ

 

  • หากมีอาการความดันโลหิตต่ำควรนั่งพัก หรือนอนลงทันทีโดยพยายามยกเท้าให้สูงกว่าระดับหัวใจเพื่อให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมอง 

 

  • หลีกเลี่ยงการยืน หรือนั่งนาน ๆ

 

  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนในเวลากลางคืน และพยายามลดปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลง

 

  • เคลื่อนไหว หรือออกกำลังกายในช่วงเช้าเพื่อกระตุ้นอัตราการเต้นของหัวใจให้เพิ่มมากขึ้น อาจเป็นการไขว้ขา หรือบิดตัว เป็นต้น

 

 

พักผ่อนให้เพียงพอ

 

 

  • พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการนอนดึก เพราะการนอนหลับไม่เพียงพอจะทำให้ความดันโลหิตต่ำลง

 

 

เมนูอาหารสำหรับผู้ป่วยความดันโลหิตต่ำ

 

  • อาหารกลุ่มโปรตีน เช่น นมวัว นมถั่วเหลือง เต้าหู้ ไข่ เนื้อสัตว์ 

 

  • วิตามินบี เช่น เนื้อหมู ไก่ ถั่ว ข้าวกล้อง ไข่แดง ตับ ผักใบสีเขียวเข้ม

 

  • ไขมันดีจากปลา 

 

  • หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ที่มีไขมันหรือโซเดียมสูง เช่น เบคอน ไส้กรอก หมูยอ เป็นต้น

 

  • หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป เช่น ผลไม้ดอง

 

  • หลีกเลี่ยงขนมอบทุกชนิด เพราะมีส่วนประกอบโซเดียมสูง

 

 

ความดันโลหิตสูง คือ ?

 

หากวัดค่าความดันโลหิตปกติจะมีค่าอยู่ที่ประมาณ 120/80 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งวัดจากการบีบตัวและคลายตัวของหัวใจ (ความดันช่วงบนและช่วงล่าง) แต่หากวัดแล้วได้ค่าตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ถือว่ามีโอกาสเป็นความดันโลหิตสูง โดยหากต้องการความแน่นอนมากขึ้น ควรวัดเพิ่มอีกหลังได้ค่าความดันโลหิตสูงอาทิตย์ละ 1 ครั้ง อีกประมาณ 2 - 3 สัปดาห์ นอกจากนี้ค่าความดันที่สูง อาจไม่ได้หมายถึงการเป็นความดันโลหิตสูงเสมอไป

 

 

สาเหตุของการเกิดความดันโลหิตสูง

 

โดยปกติผู้ที่มีอาการความดันโลหิตสูงมักจะตรวจไม่พบสาเหตุ แต่หากมีการตรวจพบ มักมีสาเหตุมาจากโรคหรือภาวะอื่น ๆ เช่น 

 

  • พันธุกรรม

 

  • โรคไต หลอดเลือดแดงตีบ หลอดเลือดไตตีบ 

 

  • เกิดเนื้องอกบริเวณต่อมใต้สมองและต่อมหมวกไต

 

  • โรคประจำตัว เช่น โรคไตเรื้อรัง โรคเบาหวาน โรคอ้วน เป็นต้น

 

  • เกิดจากพฤติกรรมหรือสาเหตุเสี่ยง ได้แก่ การสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่มีรสเค็มมากเกินไป

 

 

พักผ่อนไม่เพียงพอ

 

 

  • นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ 

 

 

อาการของความดันโลหิตสูง

 

  • ปวดศีรษะเฉียบพลัน อาเจียน

 

 

ใจสั่น

 

 

  • ใจสั่น เหนื่อยง่ายแบบผิดปกติ

 

 

  • สูญเสียการมองเห็นจากตาข้างใดข้างหนึ่งชั่วขณะ

 

  • แขนและขาซีกใดซีกหนึ่งอ่อนแรง 

 

 

ความดันโลหิตสูง มีระดับความรุนแรงใดบ้าง ? 

 

  • ความดันโลหิตระดับที่ดี ค่าความดันจะต่ำกว่า 120/80 มิลลิเมตรปรอท 

 

  • ความดันโลหิตระดับปกติ ค่าความดันจะอยู่ระหว่าง 120-129/80- 84 มิลลิเมตรปรอท

 

  • ความดันโลหิตระดับค่อนข้างสูง ค่าความดันจะอยู่ระหว่าง 130-139/85-89 มิลลิเมตรปรอท 

 

  • ความดันโลหิตสูง ระดับเริ่มแรก ค่าความดันโลหิตจะอยู่ระหว่าง 140-159/90-99 มิลลิเมตรปรอท

 

  • ความดันโลหิตสูง ระดับปานกลาง ค่าความดันโลหิตจะอยู่ระหว่าง 160-179/100-109 มิลลิเมตรปรอท

 

  • ความดันโลหิตสูง ระดับรุนแรง ค่าความดันโลหิตจะมากกว่า 180/110 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป

 

 

การวินิจฉัยความดันโลหิตสูง 

 

แพทย์จะวินิจฉัยโดยดูจากการวัดค่าความดันโลหิตของผู้ป่วยเป็นหลัก และจะมีการตรวจหลายครั้ง เพื่อความแม่นยำของผลตรวจ หลังจากนั้นแพทย์จะดำเนินการรักษาตามสาเหตุของอาการต่อไป

 

 

การดูแลตนเองเมื่อเกิดความดันโลหิตสูง

 

  • หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

 

  • ยาที่ผู้ป่วยรับประทานอาจทำให้เกิดความดันโลหิตสูงได้ จึงควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับยาที่ใช้ และรับประทานยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด

 

  • ควบคุม และจำกัดปริมาณแอลกอฮอล์

 

 

ร้องเพลง

 

 

  • ดูแล และรักษาสุขภาพจิตให้เป็นปกติ พยายามผ่อนคลาย ไม่เครียด มองโลกในแง่ดี หมั่นบริหารสุขภาพจิตอยู่เสมอ เช่น การนั่งสมาธิ การเล่นโยคะ ร้องเพลง หรือการทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ช่วยผ่อนคลายอารมณ์ได้

 

 

เมนูอาหารสำหรับผู้ป่วยความดันโลหิตสูง

 

  • ธัญพืชชนิดต่าง ๆ โดยเน้นไปที่ธัญพืชที่ไม่ขัดสี เพื่อเพิ่มกากใยและช่วยในการขับถ่าย พร้อมลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเรื้อรัง

 

  • ผักและผลไม้ เพื่อเพิ่มวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ที่ช่วยเสริมสร้างการทำงานภายในร่างกาย

 

  • เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ เช่น เนื้อปลาหรือเนื้อแดงที่ไม่ติดมัน ไม่ติดหนัง เป็นต้น

 

  • ไขมันหรือน้ำมัน ควรรับประทานไม่เกิน 6 ช้อนชา/วัน เน้นรับประทานอาหารประเภทที่มีไขมันดี เพราะไขมันจะช่วยดูดซึมวิตามินชนิดละลายน้ำด้วย 

 

  • ถั่วเปลือกแข็ง เช่น ถั่วลิสง ถั่วอัลมอนด์ ควรรับประทาน 30 กรัมหรือ 2 ช้อนโต๊ะ/วัน 

 

 

ความดันโลหิตเป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย และสามารถหายเองได้ แต่หากท่านใดเกิดอาการผิดปกติขึ้น ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรค เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายได้ ห้ามปล่อยให้หายเองตามธรรมชาติเด็ดขาด



 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

 

ศูนย์ตรวจสุขภาพ

 

ตรวจสุขภาพประจำปี 2567

 

เวียนหัว บ้านหมุน สัญญาณบอกโรคที่ไม่ควรนิ่งเฉย

 

เป็นความดันสูง-ต่ำควรทำอย่างไร