โรคฉี่หนู
โรคฉี่หนู ภัยร้ายที่มากับพวกหนู ๆ

หากพูดถึงสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรคมากที่สุดคงหนีไม่พ้น “หนู” สิ่งมีชีวิตตัวเล็ก ๆ ที่อาศัยอยู่ในท่อ ปราดเปรื่อง ว่องไว มักจะอยู่ชุกชุมในสถานที่ที่สกปรก ซึ่งในตัวหนูนั้นจะมีเชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรคได้หลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นโรคมิวรีนไทฟัส (Murine typhus) เชื้อที่อยู่ในตัวหมัดหนู โรคพยาธิตัวตืดที่อาศัยอยู่ในลำไส้ของหนู แต่วันนี้เราจะมาพูดถึงเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า เลปโตสไปรา (Leptospira) เชื้อที่ทำให้เกิด “โรคฉี่หนู” นั่นเอง

 

โรคฉี่หนูคืออะไร

โรคฉี่หนู (Leptospirosis) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า เลปโตสไปรา ที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งคนและสัตว์ โดยการติดเชื้อในคนจะมีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหาร น้ำดื่มที่ปนเปื้อนแบคทีเรียดังกล่าว รวมถึงการสัมผัส หรือได้รับแบคทีเรียทางรอยแผลที่ผิวหนัง โดยผู้ที่ได้รับเชื้อจะมีอาการไข้ขึ้นสูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะบริเวณน่อง ตัวเหลือง คลื่นไส้ และอาเจียน หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมอาจจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนกับตับและไต และอาจรุนแรงทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

โรคฉี่หนู โรคติดต่อที่มากับน้ำท่วม

 

หน้าฝนแบบนี้คงหลีกเลี่ยงการเกิดน้ำท่วมขังจนเกิดดินโคลนไม่ได้ โดยน้ำฝนจะชะล้างเอาเชื้อโรคต่าง ๆ มาไหลรวมกันเป็นแอ่งน้ำ เมื่อเราเดินลุยน้ำท่วมร่างกายจะได้รับแบคทีเรียเข้าไปเต็ม ๆ โดยเฉพาะโรคฉี่หนู ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในปัสสาวะของสัตว์ที่เป็นพาหะ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม เช่น หนู สุกร โค สุนัข เป็นต้น เชื้อแบคทีเรียนี้สามารถมีชีวิตอยู่ได้นานเป็นเดือน โดยระยะฟักตัวของโรคจะอยู่ที่ประมาณ 1-2

 

โรคฉี่หนู

 

ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคฉี่หนู

 

  • เกษตรกร หรือผู้ที่ทำงานปศุสัตว์ที่ต้องทำงานใกล้ชิด หรือสัมผัสสัตว์บ่อย ๆ
  • ผู้ที่ทำกิจกรรม หรือเล่นกีฬาทางน้ำ
  • ผู้ที่อยู่ในที่ประสบอุทกภัย หรือพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง
  • คนงานโรงฆ่าสัตว์ สัตวแพทย์ คนงานเหมืองแร่ คนขุดลอกท่อ

 

การรักษาโรคฉี่หนู

 

โดยปกติแล้วโรคฉี่หนูจะสามารถเป็นแล้วหายเองได้ หากต้องรับประทานยาแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะเป็นระยะเวลา 5-7 วัน เพื่อให้เชื้อแบคทีเรียถูกกำจัดออกไปจนหมด แต่หากมีอาการรุนแรงแพทย์จะทำการฉีดยาปฏิชีวนะเข้าเส้นเลือดโดยตรง และต้องนอนเพื่อดูอาการที่โรงพยาบาลเพราะเชื้อดังกล่าวอาจส่งผลให้อวัยวะนั้น ๆ หยุดทำงานได้

 

โรคฉี่หนูป้องกันได้

 

  • หลีกเลี่ยงการแช่ในน้ำ หรือเลี่ยงการเดินในบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง
  • ควบคุม หรือกำจัดหนูในบริเวณที่อยู่อาศัยให้ปราศจากหนู
  • เมื่อหลีกเลี่ยงการลุยน้ำไม่ได้ ต้องรีบทำความสะอาดมือ และเท้าหลังลุยน้ำทันที
  • ผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกร ปศุสัตว์ที่ต้องทำงานใกล้ชิดกับสัตว์ต้องใส่ถุงมือยาง และรองเท้าบูตทุกครั้งเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย

 

หนู เป็นสัตว์ที่นำพาเชื้อโรคต่าง ๆ มาสู่คนได้มากมาย ดังนั้นเราควรหมั่นทำความสะอาดที่อยู่อาศัย เพื่อไม่ให้หนูมาสร้างรัง และกลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคในที่สุด

_____________________________________

แหล่งข้อมูลอ้างอิง