ปวดหัวข้างเดียว หรือปวดครึ่งซีก เป็นอาการของ “โรคไมเกรน (MIGRAINE)” ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกวัยโดยเฉพาะวัยทำงาน เนื่องจากปัจจัยรอบตัวทั้งแสงจากจอคอมพิวเตอร์ หรือความเครียดจากการทำงาน ถึงแม้ว่าโรคนี้จะสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการพักผ่อนและการทานยา แต่ถ้าหากละเลยการดูแลตนเอง อาจทำให้อาการหนักขึ้นเกินกว่าจะรักษา หรือบรรเทาอาการลงได้
อาการปวดศีรษะแบบไมเกรน เป็นผลมาจากระบบไฟฟ้าบริเวณพื้นผิวสมองเกิดความผิดปกติ ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นได้ง่าย และการกระตุ้นนี้จะทำให้การไหลเวียนของเลือด และระบบประสาทของสมองเกิดความผิดปกติ โดยอาการเหล่านี้จะแสดงออกมาให้เรารู้สึกได้ผ่านอาการปวดศีรษะแบบไมเกรน
การพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือการนอนหลับมากเกินไป
สภาวะความเครียด
การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในเพศหญิง
ถูกกระตุ้นจากสภาพแวดล้อม เช่น มีแสง กลิ่น หรือเสียงมากเกินไป
การใช้ยาบางชนิด
การออกกำลังกายอย่างหักโหม และการทำกิจกรรมที่ต้องใช้ร่างกายหนักเกินไป
การดื่มแอลกอฮอล์, คาเฟอีน และสูบบุหรี่มากเกินไป
ปวดหัวตุบ ๆ เป็นระยะ
ขณะที่ปวดศีรษะ อาจมีอาการคลื่นไส้และอาเจียนร่วมด้วย
จะมีอาการปวดในระดับปานกลางไปจนถึงรุนแรง โดยจะค่อย ๆ ปวดมากขึ้นทีละน้อยไปจนถึงปวดมากแบบทรมาน หลังจากนั้นอาการจะค่อย ๆ บรรเทาลง
ระยะเวลาปวดอาจจะเกิดขึ้นนานหลายชั่วโมง แต่ส่วนมากจะไม่เกิน 1 วัน
บางรายอาจมีสัญญาณเตือนนำมาก่อน เช่น สายตาพร่ามัว, มองแสงกะพริบ, อาจปวดหัวกลางดึกหรือตอนตื่นนอน ในบางรายอาจจะมีอาการตั้งแต่เข้านอนกระทั่งตื่นนอนแล้วอาการอาจยังไม่บรรเทาลง
ไมเกรน สามารถแบ่งระยะออกได้เป็น 4 ระดับ ดังนี้
ระยะก่อนมีอาการ
ในระยะนี้ ผู้ป่วยจะเริ่มมีสัญญาณเตือนของร่างกาย ว่าจะเกิดไมเกรนขึ้นแล้ว โดยมีสัญญาณเตือนเหล่านี้ที่อาจแสดงนำมาก่อนอาการปวดศีรษะ เช่น
รู้สึกอยากอาหาร และอาจรู้สึกอยากรับประทานอาหารบางชนิดเป็นพิเศษ
รู้สึกเหนื่อยล้า, เรี่ยวแรงในการทำงานอาจมีมากขึ้นหรือลดลง หรือในผู้ป่วยบางรายอาจเกิดอาการหาวมากผิดปกติ
อารมณ์หรือพฤติกรรมเปลี่ยนไป, สมาธิลดลง
มีอาการตึงที่คอ, ปัสสาวะบ่อย, ท้องผูก, คลื่นไส้
อวัยวะมีความไวต่อแสงและเสียงมากผิดปกติ และอาจเกิดอาการตามัวขึ้นได้
ระยะอาการนำ
ระยะนี้ อาการที่เกิดจะกินระยะเวลาประมาณ 5 นาที - 1 ชั่วโมง ซึ่งอาจมีอาการเพิ่มเติมที่เกิดขึ้นได้ เช่น
มีอาการผิดปกติเกี่ยวกับการมองเห็น เช่น มองเห็นแสงสว่างจ้า, แสงแฟลช หรืออาจเห็นแสงเป็นทรงซิกแซก
กล้ามเนื้ออ่อนแรง, การพูดผิดปกติ
ระยะปวดศีรษะ
ระยะนี้จะสร้างความทรมานให้กับผู้ป่วยเป็นอย่างมาก โดยจะมีความเจ็บปวดตั้งแต่ระดับปานกลางไปจนถึงรุนแรง อาจกินระยะเวลา 4 - 72 ชั่วโมง ซึ่งจะมีอาการเพิ่มเติม ดังนี้
คลื่นไส้, อาเจียน บางทีอาการปวดของผู้ป่วยอาจดีขึ้นหลังอาเจียน
ปวดตุบ ๆ ที่ขมับข้างใดข้างหนึ่ง แล้วเพิ่มขึ้นเป็นสองข้าง โดยอาการปวดศีรษะจะค่อย ๆ เพิ่มความรุนแรงขึ้น
เวียนหัว เป็นลม และมีอาการตามัว
รู้สึกไวต่อแสง, เสียง และกลิ่นมากกว่าปกติ
ระยะหลังมีอาการ
จะเป็นระยะที่ทุกอย่างเริ่มคลี่คลายแล้ว อาการปวดของผู้ป่วยบรรเทาลง แต่อาจจะยังมีอาการ เช่น อ่อนเพลีย, หมดแรง, สับสน, ซึมเศร้า หรือไม่มีสมาธิ เป็นต้น โดยในระยะนี้จะมีอาการที่ค่อนข้างหลากหลาย ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล
ทางดวงตา เช่น การใช้สายตา, การอยู่ในสถานที่ที่มีแสงจ้ามากเกินไป หรือมีแสงระยิบระยับ
ทางจมูก เช่น น้ำมันรถ, น้ำหอม, กลิ่นควันบุหรี่
ทางลิ้น เช่น การรับประทานอาหาร, ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือกาแฟ เป็นต้น
ทางหู คือ การอยู่ในสถานที่เสียงดัง เช่น สถานบันเทิง, ไซต์งานก่อสร้าง, คอนเสิร์ต เป็นต้น
ทางกาย เช่น การอยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนหรือเย็นเกินไป, การพักผ่อนไม่เพียงพอหรือนอนมากเกินไป, มีประจำเดือน
ทางอารมณ์และจิตใจ เช่น มีสภาวะเครียด, หงุดหงิด, โมโหง่าย เป็นต้น
ความจริงแล้วไมเกรนสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัยอยู่แล้ว ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยโดยรอบ และการทำงานของสมองเป็นตัวกระตุ้นด้วย ตรงจุดนี้เองเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนวัยทำงานมีความเสี่ยงมากกว่าวัยอื่น เพราะเมื่อเราสังเกตดี ๆ การเจอแสงจากจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน การสะสมความเครียดจากการทำงาน หรือการทำงานมากเกินไปจนมีเวลาพักผ่อนน้อย ด้วยสาเหตุเหล่านี้ที่ยากจะหลีกเลี่ยงสำหรับคนวัยทำงาน ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงไมเกรนมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย
การตรวจเลือด เพราะอาจมีการติดเชื้อที่บริเวณเส้นประสาทไขสันหลังหรือสมอง
การเจาะน้ำไขสันหลังตรวจ หากสงสัยว่าผู้ป่วยมีการติดเชื้อ และมีเลือดออกในสมอง
การใช้เครื่อง CT scan เพื่อหาความผิดปกติในร่างกาย โดยแพทย์จะใช้วิธีนี้เพื่อดูภาพของสมอง ทำให้สามารถวินิจฉัยความผิดปกติต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น
การใช้เครื่อง MRI วิธีนี้จะช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยระบบสมองและประสาท หากมีเนื้องอก, เส้นเลือดสมองอุดตัน, มีเลือดออกในสมอง, การติดเชื้อ หรือภาวะแทรกซ้อนอื่น
อาการปวดชนิดนี้ ไม่สามารถทำการรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถรักษาให้อาการปวดบรรเทาลงจนหายในช่วงเวลานั้น ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท ได้แก่
การปวดแบบเฉียบพลัน รักษาได้ด้วยการรับยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล นอกจากนี้ยังมียาที่ใช้สำหรับอาการไมเกรนโดยเฉพาะ เช่น ยากลุ่มทริปแทน เป็นต้น
การปวดแบบเรื้อรัง สำหรับผู้ที่เป็น ๆ หาย ๆ ต้องทำการป้องกันไม่ให้ปวดซ้ำ โดยผู้ป่วยจะได้รับยาเฉพาะทาง และต้องทานติดต่อกันทุกวัน เช่น กลุ่มยากันชัก, ยาลดความดัน, ยาต้านอาการซึมเศร้า และกลุ่มยา Calcitonin gene-related peptide (CGRP) monoclonal antibodies เป็นต้น
หากการรักษาด้วยการทานยานอกจากพาราเซตามอลแล้ว ยาชนิดอื่น ๆ ผู้ป่วยไม่ควรตัดสินใจทานเองโดยปราศจากคำแนะนำจากแพทย์ เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงขึ้นกับตัวผู้ป่วยได้
นอนพักผ่อนให้เพียงพอไม่มากไม่น้อยจนเกินไป
ทานยาพาราเซตามอล เมื่อเริ่มมีอาการปวดใหม่ ๆ เนื่องจากหากปล่อยไว้ แล้วค่อยทานยาจะมีส่วนช่วยได้น้อย และไม่ควรทานติดต่อกันมากจนเกินไป เพราะอาจจะส่งผลข้างเคียงได้
หากเคยเป็นไมเกรนมาก่อนให้พยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยที่เป็นแรงกระตุ้น เช่น สภาพแวดล้อมที่เสียงดัง, แสงไฟกะพริบหรือจ้าเกินไป, กลิ่นฉุน เป็นต้น
งดดื่มแอลกอฮอล์ และคาเฟอีน
หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบมาก ๆ จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบ และเกิดอาการไมเกรนในเวลาต่อมา และควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ด้วย
ประคบเย็นบริเวณศีรษะที่ปวด
ทำกิจกรรมที่เกิดความผ่อนคลายเพื่อหลีกหนีความเครียด
การปวดศีรษะแบบไมเกรน เป็นอาการที่ยากจะหลีกเลี่ยง เมื่อเกิดขึ้นกับตัวเรา และไม่สามารถบรรเทาได้ด้วยวิธีการทั่วไป ควรรีบเข้ามาพบแพทย์ก่อนที่อาการจะรุนแรง เนื่องจากหากปล่อยให้เป็นบ่อยครั้ง อาจเป็นไมเกรนเรื้อรังได้
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ตรวจหาความผิดปกติโรคทางสมอง ด้วยการตรวจโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI