โรคอ้วน
โรคอ้วน สัญญาณเตือนของความเสี่ยงหลายโรคร้าย

 

อ้วน เป็นคำที่มีความหมายบาดลึกลงไปถึงขั้วหัวใจ และเป็นปัญหาที่หลายคนกำลังประสบอยู่ บางคนอาจจะรู้ว่าตัวเองเป็นโรคอ้วน แต่บางคนกลับยังไม่รู้ตัว แถมยังคงทำพฤติกรรมเสี่ยงที่เปรียบเหมือนการนับถอยหลังเวลาชีวิตของตัวเอง เพราะโรคนี้สามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยตรงได้

 

 

สาเหตุของโรคอ้วน

 

โรคอ้วน เป็นชื่อเรียกสภาวะทางร่างกายที่มีการสะสมไขมันในปริมาณมาก เพราะร่างกายได้รับพลังงานมากกว่าที่ต้องการในแต่ละวัน และไม่สามารถเผาผลาญออกไปได้จนหมด จึงมีการสะสมพลังงานส่วนเกินไว้ในอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยมีปัจจัยอื่นที่อาจส่งผลทำให้เกิดโรคอ้วนขึ้นได้ เช่น 

 

  • ปัจจัยที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม

 

  • เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์

 

  • โรคประจำตัวที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคอ้วน เช่น โรคถุงน้ำรังไข่ หรือภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนน้อยกว่าปกติ เป็นต้น

 

 

กินผิดปกติ

 

 

  • โรคพฤติกรรมการกินผิดปกติ

 

  • การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด ฮอร์โมนสเตียรอยด์ ยาแก้อาการซึมเศร้า เป็นต้น 

 

 

โรคอ้วนมีเกณฑ์การพิจารณาอย่างไร ? 

 

คนที่เป็นโรคนี้ สามารถสังเกตตัวเองได้ง่าย ๆ คือ น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง เช่น แขนและขาใหญ่ขึ้น พุงใหญ่ขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถใช้วิธีวัดดัชนีมวลกาย (BMI) ซึ่งคำนวณได้จากสูตรน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมหารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง ตัวอย่างเช่น 

 

  • นายเพชรเวชน้ำหนัก 56 กิโลกรัม ส่วนสูง 165 เซนติเมตร (1.6 เมตร) เมื่อเข้าสูตรน้ำหนัก 56 กิโลกรัมหารด้วยส่วนสูง 1.6 เมตร จะได้ผลลัพธ์เท่ากับ 20.56

 

หากมีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 30 แสดงว่ากำลังเป็นโรคอ้วน และวิธีสุดท้ายที่จะบอกได้ว่าตัวเองเป็นโรคนี้หรือไม่ คือการวัดรอบเอว โดยผู้ชายจะต้องมีเส้นรอบเอวไม่เกิน 90 เซนติเมตร ส่วนผู้หญิงจะต้องมีเส้นรอบเอวไม่เกิน 80 เซนติเมตร

 

 

ชนิดของโรคอ้วน

 

อ้วนลงพุง

 

 

อ้วนลงพุง

 

 

ผู้ป่วยจะมีการสะสมไขมันที่บริเวณช่องท้อง และอวัยวะภายในเป็นส่วนใหญ่ เช่น ลำไส้ หรือกระเพาะอาหาร เป็นต้น ซึ่งไขมันในบริเวณนี้ จะเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง และโรคไขมันในเลือดสูง เป็นต้น

 

อ้วนทั้งตัว 

 

ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีไขมันสะสมอยู่ในร่างกายโดยไม่ได้เจาะจงว่าอยู่ในตำแหน่งใด เพราะไขมันจะกระจายอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

 

 

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคอ้วน

 

  • พฤติกรรมการกิน รับประทานอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลมากจนเกินไป เช่น ขนมหวาน อาหารฟาสต์ฟู้ด น้ำอัดลม เป็นต้น

 

  • กรรมพันธุ์ หากพ่อและแม่เป็นโรคอ้วน ลูกมีสิทธิ์ที่จะเป็นด้วยมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าพ่อหรือแม่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นโรคอ้วน ลูกมีสิทธิ์ที่จะเป็นโรคอ้วน 40 เปอร์เซ็นต์

 

  • ไม่ออกกำลังกาย การออกกำลังกาย คือการเผาผลาญไขมันออกจากร่างกาย หากเราไม่ออกกำลังกายไขมันส่วนเกินจะไม่ถูกกำจัดออกไป และจะยังคงสะสมอยู่ในร่างกายของเรา

 

  • อายุ ยิ่งอายุมากขึ้นยิ่งเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคอ้วน เพราะร่างกายมีการใช้พลังงานน้อยลง

 

 

ผลกระทบที่เกิดจากโรคอ้วน

 

  • มีอาการเหนื่อยหอบ หรือเหงื่อออกได้ง่าย หากทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมาก 

 

  • ไม่สามารถทำกิจกรรมอื่นได้อย่างสะดวกสบาย เพราะการเคลื่อนไหวร่างกายจะยากลำบากกว่าบุคคลอื่น

 

 

นอนกรน

 

 

 

 

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคอ้วน

 

โรคนี้ส่งผลต่อภาพรวมของร่างกายอย่างเห็นได้ชัด จึงทำให้มีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างมากมาย ได้แก่

 

โรคข้อเสื่อม 

 

เนื่องจากคนที่เป็นโรคอ้วนมักมีน้ำหนักตัวมากกว่าคนทั่วไป จึงส่งผลโดยตรงต่อการเคลื่อนไหว แน่นอนว่ารวมถึงข้อเข่าที่ต้องรับน้ำหนักตัวในการเดินในแต่ละก้าวด้วย ดังนั้น โรคนี้จึงเป็นเหมือนตัวเร่งความเสี่ยงให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมนั่นเอง

 

โรคหัวใจและหลอดเลือด 

 

เมื่อเป็นโรคอ้วน เลือดของเราจะมีไขมันและคอเลสเตอรอลมากขึ้น เป็นผลให้เส้นเลือดในร่างกายมีขนาดที่หนาขึ้น ทำให้เลือดไหลเวียนได้ไม่สะดวกจนเกิดการอุดตัน และหากปล่อยไว้สามารถส่งผลร้ายแรงจนถึงขั้นกล้ามเนื้อหัวใจตายได้

 

โรคเบาหวาน 

 

อย่างที่เราทราบกันดีว่าคนที่เป็นโรคอ้วนลงพุงแบบนี้ จะมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานอยู่แล้ว เนื่องจากตับอ่อนจะผลิตอินซูลินได้ไม่ดีเหมือนคนทั่วไป จึงมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานเพราะร่างกายต้องการใช้อินซูลินเพื่อย่อยน้ำตาลนั่นเอง

 

ไขมันพอกตับ

 

เกิดจากตับมีปริมาณไขมันมากเกินไป เนื่องจากพฤติกรรมการทานอาหารที่มีไขมัน เมื่อตับมีปริมาณไขมันสะสมมากเกินไป จะส่งผลทำให้เกิดไขมันพอกตับได้ในที่สุด

 

กรดไหลย้อน

 

เนื่องจากผลกระทบจากโรคอ้วน ส่งผลให้ความดันในร่างกายเพิ่มมากขึ้นในบริเวณช่องท้อง รวมไปถึงกระเพาะอาหาร เป็นผลให้อาหารรวมถึงกรดในกระเพาะอาหาร ถูกดันกลับไปที่หลอดอาหารจนกลายเป็นกรดไหลย้อนในที่สุด

 

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ 

 

ภาวะนี้เกิดจากการที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น เป็นผลให้ลำคอมีไขมันเยอะ จนเป็นเหตุให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจ ส่งผลให้เป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

 

ภาวะแทรกซ้อนอื่น

 

เช่น ประจำเดือนเกิดความผิดปกติ ความดันโลหิตสูง ภาวะซึมเศร้า เป็นต้น 

 

ถ้าหากน้ำหนักตัวลดลง ปริมาณไขมันในร่างกายจะลดลงตามไปด้วย ส่งผลให้ภาวะเหล่านี้บรรเทาลงเช่นกัน ดังนั้นเราจึงควรให้ความสำคัญในการรักษาโรคอ้วน รวมถึงการดูแลพฤติกรรมการทานอาหารของตนเอง เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าว

 

 

การวินิจฉัยโรคอ้วน

 

โรคนี้สามารถตรวจหาได้ด้วยวิธีการดูค่า BMI ถ้าหากผู้ป่วยเข้าพบแพทย์ แพทย์จะทำการตรวจร่างกายเบื้องต้น ซักถามประวัติ พร้อมสอบถามพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ การบริโภคอาหาร เป็นต้น จากนั้นจะเป็นการดูประวัติสุขภาพของครอบครัว ถ้าหากผู้ป่วยเข้าข่ายการเป็นโรคอ้วน แพทย์อาจจะมีการตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจวัดความดันโลหิต การตรวจหาค่าระดับน้ำตาลหรือไขมันภายในเลือด เพื่อดูความผิดปกติ และจะดำเนินการเข้าสู่การรักษาต่อไป 

 

 

การรักษาโรคอ้วน

 

สำหรับการรักษาในเบื้องต้น ผู้ป่วยต้องควบคุมอาหารและดูแลสุขภาพมากขึ้น เช่น ทานอาหารที่มีประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่ หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อให้น้ำหนักลดลงและได้สุขภาพที่ดียิ่งขึ้น แต่ในบางกรณีแพทย์อาจให้ทานยาที่มีผลต่อการลดน้ำหนัก แต่กรณีนี้ต้องอยู่ภายในการดูแลของแพทย์และต้องทำตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ในบางรายอาจจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดก่อนการเข้ารับการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ต่อไป แต่วิธีเหล่านี้จะอยู่ในการพิจารณาเพิ่มเติมของแพทย์ก่อนที่จะดำเนินการรักษาต่อไป เช่น การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหาร หรือการผ่าตัดบายพาส และการส่องกล้องเพื่อเย็บกระเพาะอาหาร เป็นต้น 

 

 

การป้องกันโรคอ้วน

 

การป้องกันโรคนี้ทำได้ไม่ยาก แต่ต้องพึ่งความตั้งใจและการไม่ปล่อยปละละเลย เช่น

 

  • ควบคุมและปรับพฤติกรรมการทานอาหารให้ดีขึ้น พยายามไม่ทานอาหารจำพวกของทอดติดมันมากเกินไป

 

 

ออกกำลังกาย

 

 

  • การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง 

 

  • ควรชั่งน้ำหนักเป็นประจำเพื่อให้รู้แนวทางในการปฏิบัติตนเอง เพื่อให้มีน้ำหนักตรงตามมาตรฐานต่อไป

 

 

ทำไมต้องเข้าพบแพทย์หรือต้องลดน้ำหนักเมื่อเป็นโรคอ้วน ? 

 

  • เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและอัตราในการเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ 

 

  • หากลดน้ำหนักจะเป็นการช่วยลดปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ ความดันโลหิตสูง เป็นต้น 

 

  • เป็นการลดไขมันไตรกรีเซอไรด์ ไขมันเลว คอเลสเตอรอล และเพิ่มไขมันดีให้กับร่างกายแทน 

 

  • ช่วยลดระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานอยู่แล้ว สามารถควบคุมน้ำตาลได้ดีกว่าเดิม

 

 

โรคอ้วน เป็นโรคที่เกิดจากความอยากทานตามใจปากของเราเสียมากกว่า ดังนั้นหากเราชนะใจตนเองได้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหารพร้อมกับการออกกำลังกาย เราจะห่างไกลจากโรคต่าง ๆ ได้หลายโรครวมถึงโรคอ้วนด้วย หากผู้ป่วยท่านใดมีอาการผิดปกติที่รุนแรง ควรเข้าพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาในทันที เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้



 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

 

ศูนย์ตรวจสุขภาพ

 

ตรวจสุขภาพประจำปี 2567

 

ไลฟ์สไตล์กับความเสี่ยงที่คาดไม่ถึง

 

โรคอ้วนในเด็ก โรคที่ผู้ปกครองต้องดูแลใส่ใจอย่างจริงจัง