ท้องหรือไม่ดูอย่างไร (Update ข้อมูลปี 2567)
ท้องหรือไม่ดูอย่างไร (ฉบับ Update ปี 2567)

“การตั้งครรภ์” เป็นภาวะที่หลายคนอาจต้องการมี แต่มีผู้หญิงอีกจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่ไม่ต้องการให้เกิดภาวะดังกล่าวขึ้นกับตนเอง เพราะอาจจะอายุยังน้อย หรือยังไม่พร้อมที่จะมีลูก เมื่อมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกันคุณผู้หญิงอาจจะรู้สึกกังวลว่าตัวเองจะตั้งครรภ์หรือไม่ วันนี้เรามีวิธีสังเกต และวิธีการตรวจครรภ์หลากหลายรูปแบบมาให้คุณผู้หญิงเลือกใช้ได้ตามสะดวก

 

อาการที่บ่งบอกว่าคุณกำลังตั้งครรภ์

 

  • ประจำเดือนขาด ถือได้ว่าเป็นสัญญาณเบื้องต้น หากปกติแล้วประจำเดือนมาอย่างสม่ำเสมอ แต่จู่ ๆ ขาดหายไปอาจบ่งบอกได้ว่าคุณกำลังตั้งครรภ์
  • คลื่นไส้และอาเจียน มักจะเกิดขึ้นหลังจากการปฏิสนธิประมาณ 1 เดือน แต่บางคนอาจจะตั้งครรภ์โดยไม่มีอาการแพ้ท้องเลยก็ได้
  • คัดเต้านม เกิดจากเลือดไปเลี้ยงบริเวณเต้านมมากขึ้นจนทำให้มีอาการบวม ตึง และยังมีความไวต่อความรู้สึกคล้ายช่วงมีประจำเดือน
  • ปัสสาวะบ่อย เพราะร่างกายผลิตเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ มากขึ้นจึงทำให้ไตขับของเสียออกจากร่างกายมากขึ้นด้วย
  • ท้องผูก เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานช้าลง รวมถึงเกิดจากการขยายตัวของมดลูกทำให้ไปกดทับลำไส้
  • อารมณ์แปรปรวน จะมีอาการโกรธ หรือหงุดหงิดง่าย เนื่องจากร่างกายกำลังปรับตัวเข้าสู่สมดุล

 

 

การตรวจครรภ์ด้วยตัวเอง

 

การตรวจครรภ์สามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเองโดยการซื้ออุปกรณ์ หรือชุดทดสอบการตั้งครรภ์ที่จำหน่ายอยู่ในร้านค้าทั่วไป ซึ่งวิธีนี้จะเป็นวิธีทดสอบหาฮอร์โมน HCG ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่บ่งบอกถึงการตั้งครรภ์ โดยจะหลั่งออกมาจากรกหลังจากปฏิสนธิไปแล้ว 6 วัน และจะขึ้นสูงสุดในช่วง 8-12 สัปดาห์หลังการมีเพศสัมพันธ์ ความแม่นยำของการตรวจวิธีนี้จะมีมากถึง 90 % โดยอุปกรณ์ทดสอบการตั้งครรภ์นี้แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ

 

  • แบบแถบจุ่ม อุปกรณ์ชุดนี้จะมีราคาถูก ประกอบไปด้วยแผ่นทดสอบการตั้งครรภ์ และถ้วยตวง (บางยี่ห้อไม่มี) วิธีการใช้คือเก็บปัสสาวะลงในถ้วยตวง แล้วนำแผ่นทดสอบจุ่มลงในถ้วยตวงประมาณ 3 วินาที แล้วนำออกมาจากถ้วยตวงทิ้งไว้ประมาณ 5 นาทีเพื่อรออ่านผลตรวจครรภ์ ข้อควรระวัง คือ อย่าให้น้ำปัสสาวะเลย หรือสูงเกินกว่าขีดลูกศรของแผ่นทดสอบ
  • แบบปัสสาวะผ่าน มีเพียงแท่งตรวจครรภ์ที่ใช้ในการทดสอบเท่านั้น วิธีการใช้คือ ถอดฝาครอบออกแล้วถือแท่งให้หัวลูกศรชี้ลงพื้น แล้วปัสสาวะผ่านบริเวณที่ต่ำกว่าลูกศรให้ชุ่มประมาณ 30 วินาที จากนั้นรออ่านผลประมาณ 3-5 นาที
  • แบบหยด หรือแบบตลับ ชุดอุปกรณ์จะประกอบไปด้วยหลอดหยด ตลับตรวจครรภ์ และถ้วยตวงปัสสาวะ ขั้นตอนการใช้ คือ เก็บปัสสาวะลงในถ้วยตวง จากนั้นนำหลอดหยดดูดน้ำปัสสาวะแล้วหยดลงในตลับตรวจครรภ์ประมาณ 3-4 หยด วางตลับทิ้งไว้ประมาณ 5 นาทีแล้วจึงอ่านผลการตรวจ

 

 

การตรวจครรภ์

 

การอ่านผลการตรวจ

 

ปกติแล้วการตรวจครรภ์ด้วยตัวเองมักจะทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที ไม่ควรทิ้งไว้นานเกินไปเพราะอาจจะไม่มีขีดใดขึ้นมาเลย โดยบริเวณหน้าแสดงผลการตรวจจะมีตัวอักษร 2 ตัวคือ C (Control Line) และ T (Test Line) ซึ่งสามารถอ่านค่าได้ ดังนี้

 

  • 1 ขีด (ขึ้นที่ขีด C เพียงอย่างเดียว) แสดงว่าได้ผลลบ คือ ไม่มีการตั้งครรภ์ หรือตั้งครรภ์แล้วแต่ยังตรวจไม่พบ
  • 2 ขีด (ขึ้นที่ขีด C และ T) แสดงว่าได้ผลบวก คือ มีการตั้งครรภ์ (หากขึ้นขีดที่ T จาง ๆ ควรรออีก 2-3 วันเพื่อตรวจใหม่ในอีกครั้ง)
  • ไม่มีขีดใดขึ้นเลย แสดงว่าที่ตรวจครรภ์เสีย หมดอายุ หรือเกิดข้อผิดพลาดในขั้นตอนการเก็บปัสสาวะ ต้องตรวจใหม่อีกครั้ง

 

คำแนะนำในการตรวจครรภ์ด้วยตัวเอง

 

  • ก่อนใช้อุปกรณ์ตรวจครรภ์ควรรอให้เลยรอบเดือนประมาณ 7 วัน เพราะที่ประจำเดือนมาช้ากว่าปกติอาจจะเกิดจากความเครียด และความวิตกกังวล
  • ควรอ่านรายละเอียดขั้นตอนการใช้อย่างละเอียดและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพื่อผลทดสอบที่ถูกต้อง
  • ควรตรวจอย่างน้อย 2 ครั้งเพราะปริมาณฮอร์โมน HCG จะมีระดับที่แตกต่างกัน หากตรวจหลายครั้งจะได้ผลลัพธ์ที่แน่นอนกว่า โดยเว้นระยะทดสอบประมาณ 2-3 วัน
  • ควรตรวจหลังตื่นนอนตอนเช้า หรือก่อนรับประทานอาหารเพราะจะไม่มีสารเจือปนในปัสสาวะซึ่งอาจจะส่งผลให้ผลการตรวจคลาดเคลื่อนได้
  • เมื่อฉีกซองแล้วควรรีบตรวจภายใน 1 ชั่วโมงทันทีเพราะหากทิ้งไว้นานจะทำให้ประสิทธิภาพในการตรวจลดลง

 

อย่างไรก็ตามการตรวจครรภ์ด้วยวิธีนี้จะไม่สามารถให้ผลได้ 100 % และควรเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจการตั้งครรภ์ที่แม่นยำกว่า โดยนอกจากวิธีดังกล่าวแล้วยังมีรูปแบบการตรวจครรภ์ด้วยวิธีอื่นด้วย คือการรับการตรวจครรภ์จากแพทย์ด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อให้ได้รับผลลัพธ์ที่แม่นยำมากขึ้น ได้แก่

 

 

การซักถามประวัติ

 

คุณหมอจะทำการซักถามประวัติข้อมูลเกี่ยวกับผู้ที่ต้องการรับการตรวจ เช่น เวลาของประจำเดือนที่มาครั้งสุดท้าย โดยในคำถามนี้ต้องตอบวันแรกของเดือนที่ประจำเดือนมาครั้งล่าสุด นอกจากนี้คุณหมอจะถามอาการที่สามารถบ่งบอกได้ว่าเกิดการตั้งครรภ์ เช่น อาการคลื่นไส้อาเจียน วิงเวียนศีรษะ ปัสสาวะบ่อย เต้านมคัด หรือความผิดปกติของประจำเดือน เป็นต้น เพื่อให้การวินิจฉัยตรงไปตรงมาและมีความแม่นยำมากที่สุด

 

 

ทำการตรวจภายใน

 

การตรวจภายในมีจุดประสงค์เพื่อยืนยันอาการผิดปกติของร่างกาย เช่น ความผิดปกติของประจำเดือน หรืออาการอื่น ๆ ร่วมด้วย อย่างไรก็ตามการตรวจภายในไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นต้องทำในขั้นตอนการตรวจครรภ์แต่เป็นสิ่งที่ “ควรทำ” มากกว่าโดยหมอจะตรวจช่องคลอด ดูขนาดของมดลูก รังไข่ และปีกของมดลูก เป็นต้น หากผู้เข้ารับการตรวจรู้สึกว่าตัวเองมีความผิดปกติ เช่น ปวดท้องน้อย หรือบริเวณใกล้เคียงกับอวัยวะดังกล่าวให้รีบบอกแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติ

 

 

ตรวจปัสสาวะ

 

การตรวจปัสสาวะสำหรับค้นหาการตั้งครรภ์จะให้ผลที่รวดเร็ว และแม่นยำพอสมควร โดยการเก็บปัสสาวะมาให้คุณหมอตรวจนั้น เราแนะนำให้เก็บปัสสาวะในตอนเช้าไปให้หมอตรวจ เพื่อผลที่แม่นยำเกือบ 100% เพราะมีระดับฮอร์โมน HCG ที่แสดงออกมาอย่างชัดเจน ในกรณีที่ตรวจเวลาอื่นผลที่ได้มีโอกาสคลาดเคลื่อนได้ ดังนั้นการเก็บปัสสาวะในตอนเช้ามาตรวจจึงมีความแม่นยำกว่ามาก อย่างไรก็ตามผู้ตรวจควรขอคำแนะนำและแนวทางสำหรับการตรวจปัสสาวะจากแพทย์เพื่อให้ได้ขั้นตอนที่ถูกต้อง

 

 

ตรวจเลือด

 

การตรวจเลือดจะสามารถบ่งบอกการตั้งครรภ์ได้แน่นอนถึง 100% ด้วยการตรวจผ่านฮอร์โมน HCG โดยจะสามารถเข้ารับการตรวจเพื่อให้ได้ผลหลังการปฏิสนธิไม่น้อยกว่า 2 สัปดาห์ แต่การตรวจด้วยวิธีนี้มีค่าใช้จ่ายสูง นอกจากนี้สำหรับผู้ที่มีประวัติมีบุตรยาก หรือผู้ที่เคยแท้งลูกมาก่อนควรตรวจด้วยวิธีนี้เนื่องจากการตรวจด้วยการตรวจเลือดจะช่วยให้วางแผนเพื่อป้องกันการแท้งบุตรได้นั่นเอง

 

 

การตรวจอัลตราซาวด์

 

การตรวจด้วยเครื่องการตรวจอัลตราซาวด์สามารถตรวจได้ตั้งแต่เริ่มการตั้งครรภ์ อีกทั้งการตรวจด้วยวิธีนี้ไม่มีความเจ็บปวดหรืออันตรายต่อผู้ตรวจ และปลอดภัยกว่าการเอกซเรย์ด้วย นอกจากนี้วิธีนี้ยังสามารถใช้ติดตามอายุครรภ์และช่วยวางแผนกำหนดคลอดได้ ไม่เพียงแต่เท่านั้นการตรวจด้วยการตรวจอัลตราซาวด์ยังสามารถบอกเพศของเด็ก ความผิดปกติของลูกน้อย และความสมบูรณ์ของอวัยวะลูกน้อยตามอายุครรภ์อีกด้วย โดยเครื่องการตรวจอัลตราซาวด์มีตั้งแต่ 2 มิติ 3 มิติ และ4 มิติ ซึ่งจะให้ความละเอียดของภาพแตกต่างกัน โดยเฉพาะแบบ 4 มิติ ที่สามารถแสดงท่าทางและอิริยาบถของเด็กในครรภ์ได้ ไม่ใช่แค่การตรวจครรภ์เท่านั้น การตรวจด้วยวิธีนี้ยังทำให้เห็นความผิดปกติของมดลูกและรังไข่ด้วย

 

ตรวจตั้งครรภ์แบบอัลตราซาวนด์

 

หากผู้ตรวจต้องการทราบแน่ชัดว่าตนเองท้องหรือไม่ควรตรวจด้วยวิธีการตรวจเลือด หรือใช้วิธีตรวจปัสสาวะร่วมกับการตรวจอัลตราซาวด์ได้เช่นกัน หากพบว่ามีการตั้งครรภ์เราแนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำหรือทำการฝากครรภ์เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และลูกในครรภ์

 


 

 

 

 

_____________________________________
 

_____________________________________

 

ติดต่อสอบถามแพ็กเกจคลอดและฝากครรภ์ คลิก Line @petcharavej