โรคสะเก็ดเงิน
โรคสะเก็ดเงิน หนึ่งในปัญหาโรคผิวหนังที่ควรดูแลก่อนจะลุกลาม

 

โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) เป็นเซลล์ผิวหนังที่ผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดพลาด ผู้ป่วยจะมีอาการชัดเจน คือผิวหนังอักเสบเป็นขุยสีขาว โรคสะเก็ดเงินไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่สามารถดูแลอาการไม่ให้กำเริบ หรือรุนแรงขึ้น สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการในระดับปานกลางถึงขั้นรุนแรง จะมีภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายตามมา เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด หรือโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน เป็นต้น

 

 

สาเหตุของโรคสะเก็ดเงิน

 

โรคนี้ไม่ปรากฏสาเหตุของการเกิดอย่างชัดเจน แต่แพทย์เชื่อว่าเป็นข้อบกพร่องของภูมิคุ้มกันร่างกายในส่วนเม็ดเลือดขาว ส่งผลให้การแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังเร็วกว่าปกติ การเจริญเติบโตของผิวหนังจึงไม่สมบูรณ์ โดยอาจมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุได้ เช่น 

 

 

  • ผลข้างเคียงของการติดเชื้อ HIV

 

  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาเพื่อรักษาอาการความดันสูง หรือโรคหัวใจ

 

  • เกิดจากความเครียดมากจนเกินไป

 

  • ผิวหนังได้รับความเสียหายทั้งรอยแผลจากวัตถุ การแกะ หรือการเกาจนเป็นแผล เป็นต้น

 

  • การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน

 

  • การสัมผัสกับสารเคมีและสารระคายเคือง 

 

  • ภูมิอากาศที่อาจร้อนเกินไปจนทำให้เกิดผิวไหม้ 

 

  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรืออาหารบางชนิด 

 

ถึงแม้ว่าปัจจัยเสี่ยงจะดูค่อนข้างมาก แต่ทั้งหมดนี้จะขึ้นอยู่กับตัวบุคคลด้วย ผู้ป่วยในแต่ละรายอาจมีสาเหตุของการเกิดโรคสะเก็ดเงินที่แตกต่างกัน

 

 

โรคสะเก็ดเงินอาการเป็นอย่างไร ? 

 

  • ผิวแห้งจนแตกและมีเลือดออก

 

  • ผื่นแดงหนา มีขุยสีขาวหนา ๆ หรือละเอียด

 

  • ผื่นมีวงชัดเจนและมีสะเก็ด

 

สะเก็ดเงินที่ศอก

 

  • รอยโรคของโรคสะเก็ดเงินมักพบที่บริเวณศีรษะ, ศอก, เข่า และก้นกบ

 

  • มักไม่มีอาการคันหรือคันไม่มาก

 

  • เล็บมือและเท้าหนาขึ้น มีรอยบุ๋มผิดปกติ

 

  • ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดหรือบวมตามข้อต่อ

 

หากมีความสงสัยว่าตนเองเป็นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง หรือมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น สามารถตรวจสอบเบื้องต้นได้ด้วยตนเองผ่านการสังเกตอาการทั้ง 3 ข้อ ได้แก่

 

  • มักตื่นกลางดึกเพราะปวดหลังส่วนล่าง

 

  • มีประวัติอาการนิ้วและข้อมือบวม หรือกำลังบวมอยู่

 

  • มีประวัติอาการปวดส้นเท้า หรือกำลังปวดส้นเท้าอยู่

 

 

ชนิดของโรคสะเก็ดเงิน 

 

โรคสะเก็ดเงิน สามารถแบ่งออกได้หลากหลายชนิดตามลักษณะที่ปรากฏ หรือการกระจายตัว โดยแต่ละชนิดมีลักษณะและอาการที่แตกต่างกันไป ดังนี้

 

ชนิดผื่นหนา 

 

คือชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด ลักษณะเป็นผื่นแดงหนา มีขอบเขตที่ชัดเจน ขุยสีขาวหรือสีเงินหนา เพราะผื่นชนิดนี้ที่ทำให้ได้ชื่อโรคนี้ว่า “สะเก็ดเงิน” ซึ่งจะพบได้บ่อยที่บริเวณหนังศีรษะ ลำตัว แขนขา และข้อศอกกับหัวเข่า เพราะเป็นบริเวณที่มีการเสียดสีบ่อย

 

ชนิดผื่นขนาดเล็ก

 

เป็นตุ่มแดงเล็กลักษณะคล้ายหยดน้ำขนาดเล็ก มีขุย มักเกิดในผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 30 ปี 

 

ชนิดตุ่มหนอง 

 

มีลักษณะเป็นตุ่มหนองกระจายบนบริเวณผิวหนังที่มีการอักเสบหรือแดง และในผู้ป่วยบางรายอาจจะมีไข้ร่วมด้วย 

 

ชนิดผื่นแดงลอกทั้งตัว 

 

คือ สะเก็ดเงินที่มีความรุนแรง โดยผิวหนังจะมีลักษณะแดงและมีขุยลอกทั่วบริเวณร่างกาย

 

สะเก็ดเงินที่ซอกพับ 

 

เป็นชนิดที่มีรอยโรคเกิดในบริเวณซอกพับของร่างกาย เช่น รักแร้, ใต้ราวนม หรือขาหนีบ เป็นต้น จะมีลักษณะเป็นผื่นแดงแต่ไม่มีขุย

 

สะเก็ดเงินที่มือและเท้า

 

จะเกิดขึ้นที่บริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า จะมีลักษณะเป็นผื่นแดง มีขุยลอก ในผู้ป่วยบางรายผื่นอาจลุกลามมาที่หลังมือและหลังเท้าได้ 

 

เล็บสะเก็ดเงิน 

 

ที่พบได้บ่อย เช่น เล็บผิดรูป, หนาตัวขึ้น และเป็นหลุม เพราะผู้ป่วยที่เป็นโรคสะเก็ดเงิน มักจะมีความผิดปกติที่เล็บร่วมด้วย 

 

ข้ออักเสบสะเก็ดเงิน 

 

ในผู้ป่วยบางราย อาจจะมีอาการอักเสบของข้อด้วย สามารถพบได้ทั้งข้อเล็ก, ข้อใหญ่, ข้อเดียว และหลายข้อ เป็นต้น หากมีการอักเสบที่มือ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่ข้อนิ้วมือ หากมีอาการเรื้อรัง อาจทำให้ข้อมีการผิดรูปได้

 

 

ภาวะแทรกซ้อนของโรคสะเก็ดเงิน

 

  • โรคหัวใจและหลอดเลือด

 

  • โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน

 

  • เกิดการติดเชื้อ

 

  • โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

 

  • ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ เพราะหมดความมั่นใจ และเกิดความยากลำบากในการดำเนินชีวิตและทำกิจกรรมต่าง ๆ ประจำวัน เพราะสภาพร่างกายภายนอกที่เกิดจากโรค

 

 

การวินิจฉัยโรคสะเก็ดเงิน

 

ซักถามอาการ

 

แพทย์จะซักถามอาการกับประวัติการเจ็บป่วยของผู้ป่วยและครอบครัว รวมไปถึงการตรวจร่างกายเบื้องต้นตรงบริเวณผิวหนังที่เกิดความผิดปกติขึ้น เพื่อจะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้ว่าผู้ป่วยเป็นโรคสะเก็ดเงินหรือโรคผิวหนังชนิดอื่น ในบางรายแพทย์อาจพิจารณาวิธีการเก็บตัวอย่างจากผิวหนังเพื่อไปวิเคราะห์ด้วยกล้องจุลทรรศน์ หากเป็นข้ออักเสบสะเก็ดเงิน แพทย์จะมีการตรวจเลือดหรือเอกซเรย์ เพื่อหาชนิดของโรคทางไขข้อกระดูกอื่นเพิ่มเติม

 

 

การรักษาโรคสะเก็ดเงิน

 

ทายา

 

  • หากผู้ป่วยมีอาการผื่นที่ผิวหนังน้อยกว่าร้อยละ 10 ของร่างกาย อาจใช้วิธีการรักษาด้วยยาทาภายนอก เช่น น้ำมันดิน, ยาทาสเตียรอยด์, แอนทราลิน เป็นต้น การใช้ยาเหล่านี้ควรอยู่ภายใต้ความดูแลของแพทย์ เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงขึ้นได้

 

  • การรับประทานยา เช่น เมโธเทรกเซต ที่จะช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังที่ผิดปกติ ผู้ป่วยที่รับประทานยาควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

 

  • การฉายแสงอาทิตย์เทียม มีอยู่ 2 ชนิด คือ ยูวีเอและยูวีบี โดยผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการรักษา 2 - 3 ครั้ง/สัปดาห์ ระยะเวลาอย่างน้อย 3 เดือนติดต่อกัน 

 

  • หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง แพทย์จะพิจารณาใช้รังสีอัลตราไวโอเลต เพื่อลดอาการอักเสบและยับยั้งการแบ่งตัวของผิวหนัง

 

  • รักษาด้วยยาฉีดกลุ่มชีววัตถุ ในกรณีที่อาการของผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาชนิดอื่นแล้ว หรืออยู่ในขั้นที่อาการรุนแรงอย่างมาก

 

 

การดูแลตนเองจากโรคสะเก็ดเงิน 

 

  • ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์หรือสารที่ส่งผลให้ผิวเกิดความแห้ง หากอาการไม่รุนแรงสามารถใช้ได้ แต่ต้องเลือกผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนต่อผิว

 

  • ไม่แกะเกาแผลหรือขุยบนผิวเพื่อป้องกันอาการที่รุนแรงมากขึ้น

 

  • หากเป็นโรคหรือภาวะที่สามารถกระตุ้นให้เกิดโรคสะเก็ดเงินได้ ควรรีบพบแพทย์เพื่อรักษา

 

  • หมั่นออกกำลังกาย, บริโภคอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ

 

งดดื่มแอลกอฮอล์

 

  • หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ก่อให้เกิดโรค เช่น ความเครียด, การดื่มสุรา และการสูบบุหรี่ เป็นต้น 

 

  • ผู้ป่วยควรเข้าพบแพทย์เฉพาะทางตั้งแต่เริ่มมีอาการ เพื่อรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง

 

โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตพอสมควร อีกทั้งยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ผู้ป่วยจึงต้องให้ความสำคัญกับการดูแลตนเองให้มากที่สุด ตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด หากสังเกตร่างกายตนเอง แล้วพบว่ามีอาการเข้าข่ายการเกิดโรคนี้ ควรเข้าพบแพทย์เฉพาะทางให้เร็วที่สุด ก่อนที่โรคจะลุกลามจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน



 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

 

เซ็บเดิร์ม โรคผื่นที่เกิดจากผิวหนังอักเสบ