เช็กอาการผู้ป่วยโควิด-19 สีเขียว สีเหลือง และสีแดง
เช็กอาการผู้ป่วยโควิด-19 สีเขียว สีเหลือง และสีแดง

ผู้ป่วยโควิด-19 มีรูปแบบการติดเชื้อที่พบได้ 3 แบบตามความรุนแรงของอาการตั้งแต่ผู้ป่วยสีเขียวอาการเบา ผู้ป่วยสีเหลืองเสี่ยงอาการรุนแรง และผู้ป่วยสีแดงที่มีอาการรุนแรง สำหรับผู้ป่วยสีเขียวสามารถรักษาได้ที่ Hospitel หรือทำ Home Isolation ส่วนผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดงรักษาได้ที่โรงพยาบาลเท่านั้น

 

อาการของผู้ป่วยสีเขียว

 

ผู้ป่วยสีเขียวคือกลุ่มที่มีอาการเบาคล้ายไข้หวัด หรือไม่มีอาการเลย

  • มีไข้อุณหภูมิ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป
  • ไม่รับรส ไม่รับกลิ่น
  • ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ
  • ตาแดง มีผื่น และถ่ายเหลว

 

การรักษาผู้ป่วยสีเขียว

 

เนื่องจากอาการที่ไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับผู้ป่วยสีเหลือง และสีแดงจึงไม่จำเป็นต้องทำการรักษาที่โรงพยาบาล

  • Home Isolation : การรักษาด้วยการกักตัวอยู่ที่บ้านโดยจะได้รับการดูแลพร้อมอุปกรณ์ขั้นพื้นฐาน (อ่านเพิ่มเติมคลิก)
  • Hospitel : การเข้ารักษาตัวที่ Hospitel ต้องใช้ใบยืนยันผลการตรวจแบบ RT-PCR (เข้ารับการตรวจได้หากมีผลการตรวจ ATK เป็นบวก) โดยจะได้รับการดูแลจากแพทย์ตลอด 24 ชั่วโมง

 

อาการของผู้ป่วยสีเหลือง

 

ผู้ป่วยสีเหลืองคือกลุ่มที่มีอาการเสี่ยงรุนแรง หรือมีโรคร่วม

  • เวียนหัว อ่อนเพลีย ไอแล้วมีอาการเหนื่อย
  • แน่นหน้าอก หายใจลำบาก
  • ขับถ่ายเหลว 3 ครั้งต่อวันขึ้นไป
  • อ่อนเพลีย ปอดอักเสบ

 

การรักษาผู้ป่วยสีเหลือง

 

เนื่องจากอาจเกิดอาการแทรกซ้อนจากโรคประจำตัวหรือ 7 โรคกลุ่มเสี่ยง และมีอาการที่รุนแรงกว่าผู้ป่วยสีเขียวจึงไม่เหมาะที่จะทำการกักตัวรักษาที่บ้านแบบ Home Isolation ได้ หรือไม่สามารถรักษาที่ Hospitel ได้ ควรเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล

 

อาการของผู้ป่วย

 

อาการของผู้ป่วยสีแดง

 

ผู้ป่วยสีแดงคือกลุ่มที่มีอาการรุนแรงต้องรีบเข้ารับการรักษาตัวโดยเร็ว

  • ระบบหายใจมีปัญหารุนแรงทำให้หายใจลำบาก หอบเหนื่อย หากเอกซเรย์จะพบปอดอักเสบรุนแรง
  • เกิดภาวะปอดบวมจากการเปลี่ยนแปลงความอิ่มตัวของเลือดน้อยกว่า 96 % หรือลดลง 3 % จากค่าที่วัดได้ในตอนแรก
  • แน่นหน้าอกตลอดเวลา และหายใจเจ็บหน้าอก
  • ตอบสนองช้า หรือไม่รู้สึกตัว

 

การรักษาผู้ป่วยสีแดง

 

อาการของผู้ป่วยสีแดงที่รุนแรงต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ในโรงพยาบาลอย่างใกล้ชิดที่ห้อง ICU โดยผู้ป่วยจะได้รับเครื่องช่วยหายใจ แนะนำระหว่างรอเตียงควรนอนคว่ำ หากหายใจไม่ออกให้นอนตะเเคงประมาณ 45 องศา หากเป็นสตรีตั้งครรภ์ให้นอนตะแคงซ้ายเพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ดี พยายามขยับขาป้องกันลิ่มเลือด และดื่มน้ำเยอะ ๆ ทานอาหารที่มีประโยชน์ให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

 

เมื่อไหร่ที่ผู้ป่วยโควิด-19 สามารถกลับบ้านได้

 

  • อุณหภูมิวัดได้ไม่เกิน 37.8 องศาเซลเซียสต่อเนื่อง 1-2 วัน
  • มีอัตราการหายใจในระดับปกติไม่เกิน 20 ครั้งต่อนาที
  • ภาพรังสีปอดแสดงให้เห็นว่าปอดไม่ได้มีอาการแย่ลง
  • ความอิ่มตัวของออกซิเจนต้องมากกว่า 96 % เมื่อไม่ได้ออกแรง

 

หากพบว่าตนเองมีอาการที่เสี่ยงควรรักษาตัวตามความรุนแรงของอาการ เมื่อได้ออกจากโรงพยาบาลแล้วยังต้องให้ความสำคัญกับการดูแลตนเองและกักตัวตามคำแนะนำของแพทย์