ซิฟิลิส (Syphilis) คือ โรคในปัจจุบัน ที่ใครหลายคนมองว่าหากเป็นแล้วจะสามารถรักษาให้หายได้เลยชะล่าใจ และขาดวินัยในการป้องกันโรคเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ปัจจุบันเรายังเห็นผู้ที่ติดเชื้อซิฟิลิสอยู่บ้าง แล้วคุณรู้ หรือไม่ว่าอันตรายสูงสุดของโรคนี้เป็นอย่างไร และสามารถรักษาให้หายได้อย่างง่ายดายจริงหรือ ? มาดูกัน
เบื้องต้น โรคซิฟิลิสเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า ทริปโปนีมา พัลลิดุม สามารถแพร่เชื้อได้ผ่านการสัมผัสผู้ที่มีเชื้อ เช่น การจูบ, การสัมผัสแผล, การมีเพศสัมพันธ์, การรับเลือดมาจากผู้ติดเชื้อ และการสัมผัสเข็มที่ติดเชื้อ เป็นต้น นอกจากจะมีการติดต่อจากคนสู่คนแล้ว ยังสามารถติดต่อจากสตรีมีครรภ์ แล้วส่งต่อไปถึงลูกน้อยในครรภ์ได้อีกด้วย
ระยะของโรคซิฟิลิส
โรคซิฟิลิส จะมีระยะการฟักตัวอยู่ที่ 2-4 สัปดาห์ และอาจนานถึง 3 เดือน โดยโรคนี้สามารถแบ่งออกได้เป็นอีก 4 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1
ผู้ป่วยจะมีแผลเล็กที่เรียกว่าแผลริมแข็งตรงจุดที่เกิดการติดเชื้อ โดยเฉพาะบริเวณอวัยวะเพศ ซึ่งผู้ป่วยบางคน อาจจะไม่ทันได้สังเกตอาการของตนเอง และไม่รู้ตัวว่ามีแผลเกิดขึ้น เพราะแผลจะไม่มีอาการปวด ซึ่งระยะนี้จะเกิดแผลหลังจากรับเชื้อไปแล้วไม่เกิน 2 เดือน และหายไปเองภายใน 6 สัปดาห์
ระยะที่ 2
อาการจะพัฒนาจากระยะที่ 1 ในเวลาไม่เกิน 3 เดือน โดยจะแสดงอาการขึ้นมา เช่น เกิดตุ่มขึ้นตามตัว, น้ำหนักลดลง, ต่อมน้ำเหลืองมีอาการบวม และผมร่วง เป็นต้น แต่เช่นเดียวกับระยะที่ 1 อาการเหล่านี้จะสามารถหายได้เองเช่นกัน
ระยะแฝง
เป็นระยะที่ผู้ป่วยแทบจะไม่แสดงอาการใด ๆ ว่าติดเชื้อซิฟิลิส แต่ยังคงมีเชื้ออยู่ในร่างกาย ก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่ซิฟิลิสระยะสุดท้าย ซึ่งอาจจะเป็นระยะที่มีการแพร่เชื้อมากที่สุดอาจเป็นได้
ระยะที่ 3
หากมาถึงระยะนี้ และไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง จะส่งผลข้างเคียงอย่างรุนแรง เช่น มีผลต่อระบบประสาท, หัวใจ, สมอง, อัมพาต, กระดูก และข้อต่อ หรืออาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
โรคซิฟิลิส เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่ไม่ใช่แค่การต้องมีเพศสัมพันธ์แล้วจะติดโรคนี้ได้เท่านั้น แต่เชื้อยังสามารถแพร่เข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ผ่านการสัมผัส, แผลติดเชื้อ, การจูบ หรือการติดต่อจากแม่สู่ลูก ซึ่งหลายคนอาจจะคิดว่าโรคซิฟิลิสไม่รุนแรง และสามารถรักษาให้หายได้ แต่อย่าลืมว่าโรคนี้มีหลายระยะ ในบางระยะอาจจะไม่แสดงอาการใด ๆ ออกมา ผู้ป่วยบางคนอาจจะไม่รู้ตัวเองว่าติดเชื้อ จนกระทั่งเข้าสู่ระยะสุดท้ายแล้ว ถึงจะแสดงอาการออกมาให้เห็น หากไม่ได้รับการรักษา จะแพร่กระจายไปทั่วร่างกายอย่างรวดเร็ว จนอาจส่งผลต่อสมอง, ระบบประสาท, อวัยวะต่าง ๆ ทำงานผิดปกติ หรืออาจจะร้ายแรงถึงขั้นพิการ และเสียชีวิตได้
หากพบความผิดปกติในร่างกายของตนเอง ที่อาจแสดงอาการว่าเสี่ยงเป็นซิฟิลิส ให้เข้าพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย โดยแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะของกลุ่มเพนิซิลลิน และควรต้องฉีดยาตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ควรเข้ารับการตรวจโรคทางเพศสัมพันธ์ปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้เราได้ทราบถึงผลการใช้ชีวิตของเรา ว่าจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคซิฟิลิส หรือโรคอื่น ๆ ไหม ถ้าตรวจพบจะได้เข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที
ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีแผลบริเวณอวัยวะเพศ
สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งขณะมีเพศสัมพันธ์
หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา และการใช้ยาเสพติด
เข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
การตระหนักถึงโรคร้าย และการป้องกันตัวเองจากโรคเหล่านั้น ที่ติดมากับเพศสัมพันธ์ ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเมื่อป่วยแล้ว จะไม่สามารถย้อนเวลากลับไปให้ร่างกายเป็นปกติได้ เมื่อพบตนเองมีอาการน่าสงสัยว่าจะเป็นโรคดังกล่าว ควรเข้าพบแพทย์ เพื่อรักษาโรคอย่างทันท่วงที และรับคำแนะนำในการป้องกันตนเอง ก่อนที่จะสายเกินแก้
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
โปรแกรมตรวจโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์