คุดทะราด โรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
คุดทะราด โรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย

คุดทะราด (yaws) เป็นโรคติดต่อเรื้อรังทางผิวหนัง เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย มักจะมีอาการเป็นตุ่มแผล  ตามผิวหนัง พบได้ทั่วร่างกาย แม้จะรักษาให้หายได้ แต่ก็มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำอีก หากไม่ได้การรักษาจะเกิดการลุกลามเข้ากระดูก และภาวะแทรกซ้อนที่มีความรุนแรง  คุดทะราดมักจะระบาดในบริเวณประเทศเขตร้อนชื้น บุคคลที่มีความเสี่ยงจะติดเชื้อคือ กลุ่มคนที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี อีกทั้งในปัจจุบันก็ยังไม่มีวัคซีนใดที่สามารถป้องกันโรคคุดทะราดนี้ได้

 

 

สาเหตุของคุดทะราด

 

โรคคุดทะราดเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย (Treponema pallidum pertenue) โดยที่เชื้ออาจเข้าสู่ร่างกายผ่านรอยแผลผิวหนัง และแผลถลอก  สามารถติดต่อกันจากการสัมผัสน้ำเหลือง น้ำหนอง ของผู้ติดเชื้อโดยตรง หรือการใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย อีกทั้งแมลงวันก็เป็นอีกพาหะหนึ่ง ซึ่งถ้ามันตอมแผลของผู้ติดเชื้อ แล้วไปตอมคนปกติที่เป็นแผล  จะทำให้เกิดการติดต่อของโรคคุดทะราดได้

 

 

อาการของคุดทะราด

 

  • ในระยะแรก 3-6 สัปดาห์จากการที่เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย  จะมีรอยแผลแบบรอยย่นปูด (Papilloma) จากการติดเชื้อตรงใบหน้า ต้นขา และแก้มก้น ร่วมกับมีอาการไข้ และเบื่ออาหาร

 

  • ระยะที่สอง เชื้อจะลุกลามไปจนกลายเป็นแผลเปื่อย (Ulcer Papilloma) จะมีตุ้มสีม่วงขนาดใหญ่ มีรอยแผล และตกสะเก็ด จากการที่น้ำเหลืองใต้ผิวหนังบริเวณนั้นบวมขึ้น จึงเกิดอาการคันตามมา ความรุนแรงในระยะนี้ จะทำให้ผิวหนังหนาเป็นเกล็ด คล้ายหนังคางคก บริเวณฝ่ามือ และฝ่าเท้า จากการกระจายของผื่นนูน (Papillomata)

 

  • ระยะที่สาม หากผู้ป่วยรับเชื้อมาแล้วมากกว่า 5 ปีขึ้นไป และยังไม่ได้รับการรักษา การลุกลามของบาดแผลจะแพร่ไปยัง กระดูก และข้อ ส่งผลให้เกิดความพิการ และอวัยวะผิดรูป

 

 

การวินิจฉัยโรคคุดทะราด

 

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคคุดทะราดได้จากการสังเกตอาการทางผิวหนังของผู้ป่วย และการสอบถามซักประวัติ นอกจากนี้ยังมีการตรวจเลือด และการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อผิวหนังในบริเวณที่มีความผิดปกติ นำไปส่องกล้อง เป็นต้น

 

 

โรคคุดทะราด

 

 

การรักษาโรคคุดทะราด

 

  • 1. แพทย์จะให้ยาเบนซาธีน เพนิซิลลิน (Benzathine Penicillin) ในผู้ป่วยวัยเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี

 

  • 2. แพทย์จะให้ยาเพนิซิลลิน (Penicillin) แก่ผู้ป่วยอายุ 10 ปี ขึ้นไป

นอกจากนี้แพทย์ยังมีการใช้ยาในกลุ่มเตตราไซคลิน (Tetrecycline) หรือยาอะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) ในการรักษาโรคคุดทะราดแก่ผู้ป่วยที่แพ้ยาเบนซาธีน เพนิซิลลิน (Benzathine Penicillin) และเพนิซิลลิน (Penicillin)

 

 

การป้องกันโรคคุดทะราด

 

  • 1. ล้างมือบ่อยๆ หลังจากการสัมผัสสิ่งของที่ใช้ร่วมกับผู้อื่น หรือสิ่งที่มีเชื้อโรคสกปรก

 

  • 2. หากมีการสัมผัสกับหรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วยโรคคุดทะราด ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจโดยด่วน

 

  • 3. ทำการตรวจหาเชื้อในน้ำเหลือง โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี หรือผู้ที่เคยเป็นโรคคุดทะราดมาแล้ว เพื่อป้องกันการเกิดซ้ำของโรค

 

  • 4. การตรวจคัดกรองชุมชน ที่มีประชากรป่วยเป็นโรคคุดทะราด

 

 

ในประเทศไทยเคยเกิดการระบาดของโรคคุดทะราดอย่างหนักใน พ.ศ. 2491 - 2493 พบมากในภาคอีสาน และภาคใต้ มีการคาดการณ์ว่าผู้ป่วยโรคคุดทะราดในช่วงเวลานั้นมีประมาณ 1,000,000 คน ทำให้ผู้คนไม่สามารถทำงานตามปกติได้ โดยเฉพาะในเขตชุมชนชนบท ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง แต่ด้วยความร่วมมือ รัฐบาลไทย องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) และกองทุนฉุกเฉินระหว่างประเทศสำหรับเด็ก (United Nations Children's Fund : UNICEF) สามารถควบคุมโรคคุดทะราดให้หมดไปใน พ.ศ. 2509