แพทยศาสตร์, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
|
2557
|
|
|
แรงบันดาลใจจากซีรี่ย์ดัง
จุดเริ่มต้นของการเป็นหมอ จริงๆเริ่มจากกระแสที่คนเรียนเก่งต้องเรียนหมอแต่ยังไม่แน่ใจ บวกกับทางครอบครัวต้องการให้รับราชการ รวมถึงการไปเข้าค่ายอาสาก่อนเรียนแพทย์ทำให้รู้สึกมีความสุขที่ได้ทำในสิ่งนั้น แต่นอกจากแรงผลักดันจากครอบครัวแล้ว อีกหนึ่งแรงบันดาลใจคือ ซีรี่ย์เรื่อง ER ซึ่งสะท้อนชีวิตหมอเนื้อเรื่องเน้นดราม่าทางการแพทย์แต่ละเคสน่าสนใจ ที่สำคัญคือตัวเอกของเรื่องเก่งมากก็เลยอยากเป็นหมอที่ทำได้แบบนั้น (ยิ้ม) สุดท้ายจึงตัดสินใจเลือกเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ประสบการณ์ประทับใจ
ตอนที่เรียนแพทย์จะมีคนดูแล คอยช่วยเหลือตลอดไม่ว่าทำการรักษาอะไร แต่พอคืนแรกของการเป็นหมอเต็มตัวก็เจอเคสที่ต้องรักษาโดยการผ่าตัดใส่ท่อระบายทรวงอก ผู้ป่วยมีภาวะความดันต่ำลงเรื่อย ๆ ชีพจรเต้นช้าลง ตอนนั้นกลัวและกังวลเพราะเราต้องเร่งรักษา และเป็นครั้งแรกที่ทำคนเดียว แต่ด้วยความที่เป็น leader คนเดียวก็ต้องตั้งสติ สุดท้ายก็ช่วยคนไข้สำเร็จทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดี ถือเป็นเคสที่ประทับใจ
นอกจากเคสที่ตื่นเต้นแล้วก็มีเคสที่สร้างเสียงหัวเราะเหมือนกัน กลางดึกวันหนึ่งเวลาประมาณตี 2 มีคนไข้แจ้งว่าถูกผีเข้ามาที่โรงพยาบาล หมอเลยถามญาติคนไข้ว่า คิดว่าผีเข้าทำไมถึงไม่ไปวัดล่ะ ซึ่งคำตอบที่ได้คือ อ๋อ..ตอนนี้เจ้าอาวาสนอนแล้วก็เลยพามาหาหมอก่อน ... อ๋อ..เจ้าอาวาสนอน แต่หมอไม่นอนเนอะ ตรงนี้หมอก็มองเป็นเรื่องขำขันไป รายนี้สุดท้ายหมอก็รักษาไปตามปกติและให้ยารักษาอาการทางประสาทไป
หัวใจสำคัญของหมอ ER
แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินเป็นงานที่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเจอกับผู้ป่วยรูปแบบใดและเวลาไหน แต่ 2 สิ่งสำคัญที่ต้องมีคือ 1.การตัดสินใจที่รวดเร็วฉับไว และ 2.การอุทิศตนเสียสละ เราอาจจะไม่มีเวลาพักที่แน่นอนเหมือนแพทย์แผนกอื่น เพราะเราไม่อาจคาดเดาเวลาที่คนไข้ฉุกเฉินมาฉะนั้นหลาย ๆ ครั้งที่อยู่เวร หมอจะใช้เวลาพักเที่ยงให้น้อยที่สุดเพื่อเตรียมความพร้อมตลอดเวลา บางที่ไม่ได้กินข้าวจนเป็นลมก็มี
ความกดดันของงาน ER
ยอมรับว่ามีความกดดันในเรื่องการรักษาเพราะบางอย่างมันรีบหมดและบางทีก็มีหลายๆเรื่องให้ต้องทำ หมอจะคิดอยู่เสมอว่าทำอย่างไรให้ผู้ป่วยปลอดภัยที่สุด โดยตัวงานมีลำดับขั้นตอนอยู่ เมื่อมีสติทำตามลำดับขั้นส่วนใหญ่ผู้ป่วยก็ปลอดภัย แต่เรื่องที่รู้สึกกดดันมากก็คือ ปริมาณของคนไข้ที่บางครั้งมากเกินไป โดยตัวส่วนตัวหมอเองไม่ชอบให้ผู้ป่วยรอนานจึงพยายามเร่งตัวเองเลยกลายเป็นกดดันตัวเองไป ถามว่าเครียดไหมก็เครียด แต่หมอก็โอเคนะครับอยู่กับนิสัยตรงนี้ได้
กิจกรรมยามว่าง
หมอมีวิธีผ่อนคลายด้วยการเข้ายิม ออกกำลังกายแบบ Cadio ต่อยมวย รู้สึกว่าช่วยระบายความเครียดได้ดีมาก พอได้ออกกำลังกายหนัก ๆ ร่างกายจะหลั่งสารแห่งความสุข ช่วยให้ผ่อนคลายมีความสุข กิจวัตรประจำวันหมอก็จะเป็นแบบนี้ ตื่นเช้าไปทำงาน ไปยิม กลับบ้าน นอน แต่ถ้าเหนื่อยมาก ๆ ก็จะหาเวลาไปเที่ยวพักผ่อนครับ
เทคนิคสื่อสารกับคนไข้และญาติ
หมอคิดว่าการพูดตรง ๆ เป็นวิธีที่ดีที่สุด ถ้าผู้ป่วยอาการหนักก็ไม่อ้อมค้อม จะบอกเลยว่าแย่นะแต่หมอจะรักษาเต็มที่เท่าที่ทำได้ คือต้องให้เขารู้ว่าสถานการณ์จริงเป็นอย่างไร ตรงนี้อาจารย์ของหมอเคยสอนไว้ว่าให้พูดในกรณีที่ผู้ป่วยแย่ที่สุดที่สามารถเป็นได้ ให้เค้าเตรียมพร้อมและให้เค้ารู้ไปพร้อมกับเราเพื่อไม่ให้ถึงจุดที่แย่ที่สุด และห้ามพูดว่าดี เดี๋ยวก็กลับบ้าน สบายไม่เป็นไรแน่นอน เพราะต้องเข้าใจว่าทางการแพทย์ไม่มีอะไร 100% คนไข้มีโอกาสที่จะทรุดได้เสมอ เพราะฉะนั้นหมอก็จะคุยว่าตอนนี้ตรวจแล้วไม่มีอะไร แต่ถ้ากลับไปแล้วไม่ดีขึ้นให้มาโรงพยาบาลได้เสมอ
คติในการทำงาน
ในการทำงาน “หมอจะถือประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นหลัก” คือทำอย่างไรก็ได้ให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์สูงสุดในการเข้ารับการรักษา
ได้รู้จัก น.พ.ประสพโชค ทองสารี กันไปบ้างแล้ว คงได้เห็นถึงความตั้งใจ ทุ่มเทและเสียสละในงานและเพื่อคนไข้ของคุณหมอกันไปแล้ว ดังนั้นวางใจได้ว่าเมื่อคนไข้อยู่ในมือคุณหมอจะรักษาอย่างเต็มที่และดูแลด้วยความเต็มใจอย่างแน่นอน