exercise stress test
EST ตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกาย (Update ปี 2567)

EST (Exercise Stress Test) หรือเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

 

การตรวจ EST คือ วิธีการทดสอบสมรรถภาพของหัวใจ โดยให้ผู้ป่วยออกกำลังกายต่าง ๆ เช่น วิ่งบนลู่วิ่ง หรือการตรวจวิ่งสายพาน และปั่นจักรยาน วิธีดังกล่าวจะเป็นการสร้างแรงเค้นต่อกล้ามเนื้อหัวใจเพื่อตรวจสอบว่า ขณะที่ร่างกายกำลังออกกำลังอย่างหนักนั้นหัวใจมีภาวะขาดเลือดหรือไม่ เพราะขณะออกกำลังหัวใจจะต้องการเลือดและออกซิเจนมาหล่อเลี้ยง หากมีเลือดและออกซิเจนมาหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอจะส่งผลให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ เกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอก ความดันเลือดลดลง และหัวใจเต้นผิดปกติ โดยเครื่อง EST แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ แบบสายพานไฟฟ้า (Treadmill) สามารถปรับตั้งโปรแกรมการทดสอบได้หลากหลายกว่า โดยสามารถปรับได้ทั้งความเร็วและความชันของสายพานวิ่ง และที่เป็นแบบแบบจักรยาน (Bicycle ergometer) เครื่องมือนี้จะมีราคาถูกกว่า กินเนื้อที่ในการติดตั้งน้อยกว่า และยังใช้ได้ดีในผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องการเดินกับการทรงตัวอีกด้วย

 

ขั้นตอนการตรวจ EST 

 

จะให้ผู้ป่วยวิ่งบนสายพานโดยติดเครื่องวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ จากนั้นจึงค่อย ๆ เพิ่มความเร็วและความชันของสายพานขึ้น ในระหว่างที่ให้ผู้ป่วยออกกำลังกายอยู่นั้นจะมีการวัดความดันเป็นระยะ ๆ หากผู้ป่วยมีภาวะหัวใจขาดเลือดจะมีผลทำให้คลื่นไฟฟ้าเปลี่ยนแปลงไป

 

ประโยชน์ของการตรวจ EST

 

  • ใช้สำหรับรักษาผู้ป่วยที่ป่่วยเป็นโรคหัวใจล้มเหลวเพื่อประเมินสมรรถภาพทางร่างกายและประเมินค่าการตอบสนองของผู้ป่วยหลังการรักษา

  • เพื่อหาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะที่มักจะแสดงออกมาขณะที่ผู้ป่วยกำลังออกกำลังกาย

  • การตรวจ EST มีความแม่นยำในการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจได้ดี

  • เพื่อทดสอบผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน

  • ใช้ตรวจสอบผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจว่ามีโรคสำคัญอื่นแทรกซ้อนหรือไม่ เพราะในสภาวะปกติผู้ป่วยจะไม่ได้ออกแรงมากนักจึงไม่แสดงอาการเจ็บปวดออกมา

 

ข้อควรระวังในการตรวจ EST

 

  • อาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวระหว่างการทดสอบ หากผู้เข้ารับการตรวจรู้สึกมีอาการเจ็บหน้าอกควรแจ้งแพทย์ในทันที

  • หากหัวใจมีการสูบฉีดเลือดมากเกินไปอาจจะทำให้เลือดแดงเอออร์ตาฉีกขาดได้

  • ในระหว่างการตรวจ EST อาจเกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะและก่อให้เกิดความดันโลหิตต่ำ

  • อาจเกิดอาการคลื่นไส้ วิงเวียน อ่อนเพลีย หากมีอาการดังกล่าวควรรีบบอกแพทย์ทันที

  • อาจทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

 

 

การเตรียมตัวก่อนการตรวจ EST

 

  • งดน้ำและอาหาร 2 ชั่วโมงก่อนการทดสอบ

  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่

  • สวมใส่เสื้อผ้าที่สบาย หรือรองเท้าที่เหมาะสำหรับการออกกำลังกาย

  • ควรงดยากลุ่มที่ทำให้หัวใจเต้นช้า เช่น ยากลุ่ม Beta-blockers เพราะส่งผลต่อการตรวจ EST

  • ควรงดยากลุ่มที่รักษากล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ยกเว้นกรณีทำการทดสอบเพื่อดูผลการรักษาและการพยากรณ์โรค

 

ผู้ที่ควรตรวจโดยวิธีการ EST

   

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ แต่ไม่แสดงอาการผิดปกติ เช่น ผู้สูบบุหรี่จัด, ผู้สูงอายุ, ผู้ที่มีระดับไขมันในเลือดสูง, ผู้ป่วยเบาหวาน, ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง
 

____________________________________


ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

 

Line : @petcharavej

 

เพิ่มเพื่อน

 

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

 

 

ศูนย์หัวใจ

 

 

โปรแกรมตรวจสมรรถภาพหัวใจ

 

 

ECHO เครื่องตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง

 

 

ตรวจหาแคลเซียมหรือหินปูนในหลอดเลือดหัวใจคืออะไร