แผนกทันตกรรม
แผนกทันตกรรม
 

ทันตกรรมคืออะไร

 

คือแผนกที่ทำการตรวจรักษาสุขภาพภายในช่องปากเพื่อสุขอนามัยที่ดี และเพื่อยืดอายุการใช้งานให้นานที่สุด สุขภาพช่องปากเป็นสิ่งที่ทุกคนมองข้ามไม่ได้ ลองคิดดูว่าหากคุณมีปัญหาสุขภาพช่องปาก เช่น การมีกลิ่นปากจะทำให้คนอื่นมองคุณเช่นไร หรือฟันของคุณมีปัญหาคุณจะทำเช่นไร หากปล่อยปัญหาเหล่านี้ไว้จะส่งผลเสียทั้งต่อบุคลิกภาพ และอาจเกิดโรคที่ทำให้สูญเสียฟันได้

>>>>รายละเอียดเพิ่มเติม

_____________________________

 

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

 

วันเปิดทำการ : บริการทุกวัน
เวลาเปิดทำการ : 08.00-15.00 น. 
ตึก/ชั้น : A/14
เบอร์ติดต่อ :
1390


Line Official :   @petcharavej  คลิก  

ทันตกรรมจัดฟัน

หลายคนมีปัญหาเกี่ยวกับฟันที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ฟันซ้อน ฟันเก เราเชื่อว่าทุกคนต้องการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้มีบุคลิกภาพที่ดีเวลาพบปะผู้อื่น และหนึ่งในวิธีรักษานั่นก็คือ "การจัดฟัน" โดยมีรายละเอียดที่ต้องศึกษาและควรรู้ไว้เพื่อประกอบการตัดสินใจในการทำ ดังนี้

 

ใครบ้างที่ควรจัดฟัน

 

  • ผู้ที่มีระยะห่างของฟันมากเกินไป

  • ผู้ที่มีปัญหาของฟันจนไม่สามารถรับประทานอาหารได้สะดวก

  • ผู้ที่มีปัญหาด้านการเรียงตัวของฟัน

  • ผู้ที่มีปัญหาฟันยื่นทั้งฟันบนและฟันล่าง

 

จัดฟันครั้งแรก

 

ในการทำครั้งแรกควรเลือกสถานที่ที่ปลอดภัย จึงควรศึกษาข้อมูลของแหล่งที่มาก่อน เพราะเราเชื่อว่าคงไม่มีใครอยากรับผลกระทบหรือผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น เช่น เกิดอาการปากบวม อักเสบนอกจากการเลือกสถานที่ที่มีคุณภาพแล้ว การจัดฟันถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและต้องใช้ความชำนาญในการทำ ดังนั้นจึงควรเลือกทันตแพทย์ที่มีประสบการณ์เพื่อความปลอดภัย โดยปกติแล้วจะใช้เวลาในการทำประมาณ 2-3 ปี และขึ้นอยู่กับการดูแลฟันระหว่างการดำเนินการและสภาพของฟันก่อนการจัดด้วย

 

ประโยชน์ของการจัดฟัน

 

  • ทำให้ฟันมีรูปทรงและเป็นระเบียบมากขึ้น

  • มีส่วนเพิ่มบุคลิกภาพให้ดูดีมากขึ้น

  • มีส่วนให้สามารถทำความสะอาดฟันได้ง่ายขึ้นส่งผลให้ฟันมีสุขภาพดี

ทันตกรรมศัลยกรรมในช่องปาก

คือ วิธีการรักษาโดยอาศัยการผ่าตัดในช่องปาก ซึ่งโดยทั่วไปอาจจะคิดว่าเป็นเพียงแค่การผ่าตัดฟันคุด หรือถอนฟันคุดเท่านั้น แต่แท้ที่จริงแล้วการรักษาโดยวิธีนี้เป็นการรักษาที่เกี่ยวกับโรคที่เกิดขึ้นภายในบริเวณดังกล่าวทุกประการ

 

โรคในช่องปากและการรักษาด้วยการผ่าตัด

 

  • ฟันคุด เป็นปัญหาเกี่ยวกับฟันกรามใหญ่ซี่ด้านในสุด ซึ่งเป็นฟันกรามแท้ที่มักจะออกมาตอนช่วงอายุระหว่าง 18-20 ปี หากฟันกรามซี่นี้งอกออกมาอย่างเป็นปกติในตำแหน่งที่ถูกต้องและมีเหงือกโดยรอบสุขภาพดี แต่ส่วนใหญ่แล้วนั้นฟันกรามซี่นี้มักจะงอกออกมาผิดตำแหน่งและอาจจะสร้างความเจ็บปวดได้ เนื่องจากเป็นซี่ที่อยู่ด้านในสุดทำให้ทำความสะอาดได้ยาก เมื่อทันตแพทย์เอกซเรย์ดูตำแหน่งการวางตัวของฟันกรามซี่นี้ แล้วพบว่ามีความผิดปกติก็จะผ่าตัดเอาฟันกรามเจ้าปัญหาซี่นี้ออกไปเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาภายในช่องปากอย่างอื่นตามมา

  • โรคฟันผุ สาเหตุของโรคชนิดนี้เกิดจากแบคทีเรียทำลายแผ่นคราบจุลินทรีย์ที่อยู่บนผิวของฟัน ทำให้บนผิวฟันสะสมความเป็นกรดไว้สูงจนกระทั่งทำให้ฟันถูกกัดกร่อนเป็นรูผุ โรคฟันผุจะมีวิธีการรักษาในเบื้องต้นคือการอุดฟัน แต่หากปล่อยให้ลุกลามจนแบคทีเรียเข้าไปถึงโพรงประสาทฟันแพทย์ก็จะถอนฟันซี่ที่ผุนี้ออกไป เพราะเชื้อแบคทีเรียได้ทำลายฟันไปมากจนเหลือแต่รากฟัน

  • การผ่าตัดเพื่อจัดแต่งขากรรไกร คือ การผ่าตัดเพื่อแก้ไขความผิดปกติหรือปรับแต่งตำแหน่งของขากรรไกรที่ไม่สามารถแก้ไขด้วยการจัดฟันเพียงอย่างเดียว เช่น แก้ไขภาวะถอยของกระดูกขากรรไกรล่าง แก้ไขภาวะเบี้ยวไม่สมมาตรของกระดูกขากรรไกรล่าง เป็นต้น

 

นอกจากนี้ยังมีการรักษาด้วยการปลูกถ่ายกระดูก ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถช่วยแก้ปัญหาโรคฟันที่เกิดจากการมีปริมาณของกระดูกขากรรไกรที่ไม่สมบูรณ์เพียงพอ เช่น ปัญหาการมีรูปหน้าที่ผิดปกติ เป็นต้น

 

วิธีดูแลรักษาสุขภาพในช่องปาก

 

  • การใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ เพราะเป็นสารที่ช่วยลดการฟันผุได้

  • งดการดื่มสุราและการสูบบุหรี่

  • แปรงฟันให้ถูกวิธีและควรเลือกใช้แปรงที่มีขนอ่อนนุ่ม แต่ก็ไม่นุ่มจนเกินไปเพราะจะทำให้ไม่สามารถกำจัดแผ่นจุลินทรีย์ที่เคลือบฟันอยู่ออกไป และควรเลือกแปรงสีฟันที่มีปลายแหลมที่สามารถสอดเข้าไปได้ถึงกระพุ้งแก้มด้านในได้

  • ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคในช่องปากมากที่สุด คือ การรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ หรือไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น การรับประทานของหวานมากเกินไป เป็นต้น ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานของหวาน ผัก หรือผลไม้ที่มีรสหวานมากเกินไป

ทันตกรรมทั่วไป

คือ การให้บริการเกี่ยวกับการตรวจวินิจฉัยสุขภาพในช่องปากและฟันด้วยการถ่ายภาพเอกซเรย์ รวมทั้งการให้คำปรึกษาทั่วไป เช่น การอุดฟัน ขูดหินปูน ถอนฟัน ฟันปลอมทั้งชนิดติดแน่นและถอดได้ รวมถึงการรักษารากฟัน เพื่อให้ผู้ใช้บริการมีสุขอนามัยที่ดีและมีอายุการใช้งานได้นาน 

 

การตรวจวินิจฉัยโรค

 

การตรวจวินิจฉัยโรคในเบื้องต้นจะทำให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถทำได้จากการสังเกตุด้วยตาเปล่าและการซักถามประวัติของคนไข้ประกอบด้วย

 

การรักษาด้วยทันตกรรมทั่วไป

 

  • การขูดหินปูน (Dental Scaling) คือ การกำจัดคราบหินปูนที่เป็นเชื้อแบคทีเรีย โดยการขูดเอาก้อนหินปูนที่เกาะอยู่บริเวณฟัน หรือซอกฟันออกมีทั้งชนิดใต้เหงือก และเหนือเหงือกออกทั้งหมด โดยเครื่องมือที่ใช้ในการขูดหินปูนจะมี 2 ชนิด คือ ใช้แรงมือขูดกับใช้ที่ขูดไฟฟ้า

  • การอุดฟัน เป็นการกรอฟันในบริเวณที่ผุออกแล้วจึงทำการอุดฟันต่อด้วยทันตวัสดุ เช่น อมัลกัม ซึ่งเป็นวัสดุเรซินสีเหมือนฟัน หรือในกรณีที่บริเวณที่ผุมีขนาดใหญ่มาก ๆ อาจจำเป็นต้องทำการอุดด้วยการทำ Inlays & Onlays 

  • การถอนฟัน เป็นการรักษาฟันผุที่รุนแรงถึงขึ้นทะลุถึงโพรงประสาท นอกจากนี้ยังมีการถอนฟันเพราะต้องการจะจัดฟันด้วย โดยทันตแพทย์จะพิจารณาถถึงหลาย ๆ ปัจจัย เช่น การซ้อนทับกันของฟัน ลักษณะการสบกันของฟัน ความสมมาตรของฟันและกระดูกขากรรไกร

 

ประกันสังคมกับการรักษาฟัน

 

หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าการรักษาเกี่ยวกับฟัน ไม่ว่าจะเป็นการถอนฟัน การจัดฟัน หรือแม้กระทั่ง การขูดหินปูนสามารถใช้สิทธิ์ประกันสังคมได้ โดยจะได้รับค่าบริการทางการแพทย์เท่าที่จ่ายจริง 900 บาท/ปี การใช้สิทธิ์สามารถเลือกปฏิบัติได้ 2 วิธี ได้แก่

  • การรับบริการทางคลินิกทั้งภาพรัฐและเอกชนทั่วไป ผู้ใช้สิทธิ์จะต้องสำรองจ่ายไปก่อนล่วงหน้า จากนั้นให้นำหลักฐานที่ต้องการยื่นคำขอรับประโยชน์กรณีทันตกรรม ได้แก่ แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีทันตกรรม ใบรับรองแพทย์ ใบเสร็จรับเงิน และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้ ยื่นเอกสารทั้งหมดที่ได้จากสำนักงานประกันสังคม หรือสำนักงานประกันสังคมจังหวัด และสาขาที่ผูู้ใช้บริการสะดวกเพื่อรอรับเงินคืนจากสำนักงานประกันสังคมภายในวงเงิน 900 บาท/ปี

  • หากรับบริการที่คลินิกทันตกรรมทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีป้ายระบุว่า “สถานพยาบาลแห่งนี้ให้บริการผู้ประกันตนกรณีทันตกรรม ไม่ต้องสำรองจ่าย” ผู้ใช้สิทธิ์สามารถใช้บัตรประชาชนเป็นหลักฐานเข้ารับบริการได้โดยไม่ต้องสำรองจ่าย ภายในวงเงิน 900 บาท/ปี

 

 

ทันตกรรมประดิษฐ์

ทันตกรรมประดิษฐ์ คือ การส่งเสริมหรือการรักษาทดแทนสภาพฟันที่มีความเสียหายหรือที่เกิดการสูญเสียฟัน เช่น ทำฟันเทียม ครอบฟัน รากฟันเทียม เป็นต้น ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้มักจะเป็นการใช้วัสดุต่าง ๆ เข้ามาทดแทนฟันที่เสียหายไป

 

บริการทางการแพทย์

 

  • การครอบฟัน

  • ทำรากฟันเทียม

  • ทำฟันเทียม

  • ทำสะพานฟัน

  • การอุดฟัน

  • การทำฟันปลอมทั้งปากหรือบางส่วน

 

ประโยชน์ของทันตกรรมประดิษฐ์

 

  • ทำให้ฟันไม่เคลื่อนหรือล้ม

  • ทำให้สามารถทำความสะอาดฟันได้มากขึ้น

  • ส่งผลให้มีรูปหน้าที่ดีขึ้นเนื่องจากฟันที่มีระเบียบ

  • ส่งผลให้ระบบการย่อยอาหารหรือการบดเคี้ยวอาหารมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

  • ในบางรายสามารถส่งผลต่อการพูดให้ดีขึ้นได้

 

การทดแทนฟันที่สูญเสียไป

 

  • การปลูกรากฟันเทียม เป็นการทดแทนสำหรับผู้ที่สูญเสียรากฟันโดยการฝังไททาเนียมแล้วทำการยึดครอบฟันลงไป

  • สะพานฟัน เป็นหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดสำหรับผู้ที่สูญเสียฟันเนื่องจากมีผลถาวร คือการครอบฟันตรงบริเวณฟันซี่อื่น ๆ และเชื่อมต่อฟันปลอมเข้าไป

  • ครอบฟัน เป็นการครอบลงบนฟันจริงมีจุดประสงค์เพื่อใช้ยึดสะพานฟันหรือใช้ยึดรากฟันเทียม

  • ฟันปลอม ทำขึ้นเพื่อใช้ทดแทนฟันที่สูญเสียไปสามารถสร้างมาจากโลหะและพลาสติก

  • อุดฟัน เป็นวิธีที่คนส่วนมากนิยมทำกันโดยสามารถเลือกใช้วัสดุได้หลากหลาย เช่น ทอง เรซิน และเงิน เป็นต้น

 

การดูแลฟันปลอม

 

  • ควรแช่น้ำไว้เมื่อไม่ได้ใช้งาน และห้ามใส่ในน้ำร้อนเพราะจะส่งผลให้ชำรุดได้

  • ระมัดระวังในการจับฟันปลอมเพราะมีความบอบบางและชำรุดได้ง่าย

  • ควรทำความสะอาดด้วยการแปรงทุกวัน

  • เมื่อฟันปลอมเกิดการชำรุดให้นำมาให้แพทย์ห้ามทำการซ่อมแซมด้วยตนเอง

ทันตกรรมรักษาคลองรากฟัน

การรักษาคลองรากฟัน คือ การรักษาอาการที่ผิดปกติที่เกิดขึ้นกับคลองรากฟัน เช่น อาการอักเสบ อาการติดเชื้อ หรือการทำความสะอาดบริเวณดังกล่าว เป็นต้น นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการสร้างคลองรากฟันปลอมขึ้นมาเพื่อใช้งานทดแทนจุดที่เสียหายไป

 

อาการมีปัญหาของคลองรากฟัน

 

  • ฟันมีลักษณะเสียหาย เช่น ผุ กร่อน เป็นต้น และเกิดความเสียหายถึงโพรงประสาทฟัน

  • ฟันที่เปลี่ยนสีไปจากเดิมจากอุบัติเหตุ

  • ผูัที่มีตุ่มหนองเกิดขึ้นบริเวณในช่องปาก

  • มีอาการบวมเกิดขึ้นบริเวณเหงือก

 

หากไม่รักษาคลองรากฟันจะเป็นเช่นไร

 

  • ประสิทธิภาพการบดเคี้ยวอาหารลดลง

  • ฟันเกิดการล้มและเอียง

  • ส่งผลให้ปวดกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าเนื่องจากต้องเคี้ยวอาหารข้างเดียว

  • หากรักษาแทนด้วยการถอนฟันอาจทำให้กระดูกบริเวณดังกล่าวเสียหายได้

  • ฟันที่คู่กับซี่ดังกล่าวที่สูญเสียไปจะส่งผลต่อการเคี้ยวอาหารและเสียบุคลิกภาพ

 

การดูแลรักษาฟันหลังการทำคลองรากฟัน

 

  • ไม่ใช้บริเวณที่พึ่งไปรักษาในการขบหรือเคี้ยวของแข็ง

  • หากมีการนัดหมายจากแพทย์ควรเข้าพบตามเวลาที่กำหนดเพื่อผลลัพธ์การรักษาที่ดี

  • ควรดูแลรักษาสุขภาพช่องปากเพื่อให้การใช้งานคลองรากฟันได้นานมากยิ่งขึ้น

  • ควรรับการบูรณะฟันเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีมากขึ้น

  • ระมัดระวังในการเคี้ยวอาหารเพราะหากวัสดุเสียหายจะส่งผลให้แผลเกิดการติดเชื้อได้

 

ข้อดีของการทำคลองรากฟัน

 

  • สามารถใช้งานฟันตรงจุดดังกล่าวโดยไม่จำเป็นต้องถอดออกเหมือนฟันเทียม

  • มีประสิทธิภาพในการบดเคี้ยวอาหารใกล้เคียงกับฟันปกติ

  • ปรับตัวได้ง่ายกว่าการทำฟันเทียม

  • ได้ผลลัพธ์ที่ปลอดภัยกว่าการรักษาด้วยการถอนฟัน

 

ข้อจำกัดของคลองรากฟัน

 

การรักษารูปแบบนี้ไม่สามารถทำได้ติดต่อกันทุกซี่ ทำได้บางซี่เท่านั้นโดยการทำต้องผ่านความคิดเห็นและการตัดสินใจจากแพทย์ โดยจะยึดปัจจัยต่าง ๆ ในการตัดสินใจ เช่น ความเสียหายของบริเวณนั้น ลักษณะของรากฟัน เป็นต้น 

ทันตกรรมปริทันต์

โรคปริทันต์หรือโรคเหงือกอักเสบ คือ โรคที่สร้างความเสียหายให้กับบริเวณเนื้อเยื่อของช่องปากไม่ว่าจะเป็นเหงือกหรือกระดูกหุ้มรากฟันก็ตาม โดยผู้ป่วยที่เป็นโรคชนิดนี้มักจะไม่แสดงอาการในระยะแรกเริ่ม แต่หลังจากส่วนอื่น ๆ ในช่องปากเริ่มถูกทำลายจะส่งผลออกมาให้เห็นในภายหลัง เช่น มีอาการปวดหรือบวม เหงือกร่น ฟันโยกและ ฟันหลุด เป็นต้น โรคดังกล่าวสามารถเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "โรครำมะนาด"

 

สาเหตุของโรคเหงือกอักเสบ

 

  • ได้รับสารพิษที่มีเชื้อจุลินทรีย์

  • มีหินปูนในช่องปาก

  • ร่างกายขาดสารอาหาร

  • การเรียงตัวไม่เป็นระเบียบของฟัน

  • การใส่ฟันปลอมที่ไม่ถูกวิธี

  • ริมฝีปากปิดไม่สนิท

  • มีเศษอาหารติดฟัน

  • การแปรปรวนหรือการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย

 

โรคเหงือกอักเสบ สาเหตุของอาการเหงือกบวม

 

เหงือกอักเสบ (Gingivitis) เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหา "เหงือกบวม" เพราะเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยปกติแล้วเชื้อแบคทีเรียมักเกิดจากการไม่รักษาความสะอาดของฟันทำให้เกิดคราบสะสม เมื่อคราบเหล่านี้สะสมเป็นเวลานานจะทำให้เกิดอาการเหงือกบวมได้ในที่สุด หากมีอาการรุนแรงอาจส่งผลให้ฟันเป็นหนองได้ อย่างไรก็ตามยังมีสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดเหงือกบวมได้ เช่น ฟันปลอมที่ใช้ไม่ได้คุณภาพ หรือผลข้างเคียงจากการใช้ยาจำพวกควบคุมความดันโลหิตและเกิดจากโรคอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อเหงือก เช่น โรคมะเร็งในช่องปาก เป็นต้น

 

อาการของโรคเหงือกอักเสบ

 

  • เหงือกมีสีแดงจัดและดูมันวาว

  • เลือดออกในช่องปากได้ง่าย

  • อาจมีหนองไหลในช่องปากหากผู้ป่วยใช้มือกด

  • ร่องปริทันต์มีขนาดลึกมากขึ้น

 

การรักษาโรคเหงือกอักเสบ

 

  • ผู้ป่วยต้องเข้าพบแพทย์เพื่อขูดหินปูดพร้อมการเการากฟันต้องทำซ้ำหลาย ๆ ครั้ง

  • เมื่อทำการรักษาเสร็จแล้วแพทย์จะนัดตรวจผลลัพธ์ที่ออกมา โดยหากอาการยังไม่ดีขึ้นผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าเหงือก

  • ต้องดูแลความสะอาดของช่องปากอย่างละเอียดโดยเฉพาะซอกฟัน

  • หากแพทย์นัดตรวจต้องมาตามนัดหมายแพทย์เพื่อติดตามผลการรักษาทุก ๆ 6 เดือน

 

วิธีแปรงฟันหลังการรักษาโรคเหงือกอักเสบ

 

  • แปรงวันละ 2 ครั้งเป็นอย่างน้อย

  • แปรงเบา ๆ

  • ใช้แปรงสีฟันที่มีปลายมน และมีขนนุ่ม

  • ใช้ไหมขัดฟันวันละ 1 ครั้ง

 

การป้องกันโรคเหงือกอักเสบ

 

โรคในบริเวณดังกล่าวนี้ต่อให้รักษาหายแล้วก็ตาม ยังมีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้ได้อีก เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่อาจเกิดขึ้นจากการทานอาหารและไม่ได้รับการดูแลรักษาความสะอาดของฟัน ดังนั้นการแปรงฟันทุกวันจึงสามารถช่วยป้องกันโรคปริทันต์ได้ด้วยนั่นเอง นอกจากนี้การเข้ารับการตรวจสุขภาพฟันอย่างสม่ำเสมอยังเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรู้จักกับสภาพฟันของเราเพื่อเตรียมตัวรับมือหรือป้องกันปัญหาที่อาจนำไปสู่การสูญเสียฟันตั้งแต่เนิ่น ๆ 

 

โรคเหงือกอักเสบกับการจัดฟัน

 

หากผู้ป่วยต้องการจัดฟันขณะที่ยังเป็นโรคดังล่าวนี้อยู่ควรรักษาโรคนี้ให้หายก่อนเป็นอย่างน้อย 4 เดือน ในความเป็นจริงแล้วก่อนการจัดฟันหากเราเป็นโรคในช่องปากชนิดใดก็ควรรักษาโรคนั้น ๆ ให้หายก่อนเสมอ โดยการจัดฟันขณะเป็นโรคปริทันต์จะทำให้ทำความสะอาดฟันได้ยากขึ้น และอาจส่งผลให้อาการของโรคดังกล่าวหรือโรคอื่น ๆ แย่ลงด้วย