คลินิกอายุรกรรม
คลินิกอายุรกรรม
 

อายุรกรรมเป็นคลินิกดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคที่ต้องใช้ยารักษาเป็นหลัก โรคทางอายุรกรรมถูกจัดออกเป็นหลายประเภทตามอวัยวะในร่างกาย เช่น โรคไต โรคหัวใจ เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่าทุกอวัยวะในร่างกายเรามีโอกาสเกิดโรคได้แทบจะทั้งนั้น บางโรคที่รุนแรงอาจไม่ปรากฏอาการในช่วงแรก แต่หากปล่อยทิ้งไว้ก็จะยิ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ดังนั้นเราจึงควรให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาโรคที่เราเป็นอยู่ไม่ว่าอาการของโรคจะมากหรือน้อยก็ตาม

>>>>รายละเอียดเพิ่มเติม
____________________________________


ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

 

วันเปิดทำการ : บริการทุกวัน
เวลาเปิดทำการ : 07.00-17.00 น. (ติดต่อลงทะเบียนก่อนเวลา 16.30 น.)
ตึก/ชั้น : A/16

หลังเวลา 16.30 น. ติดต่อลงทะเบียน ชั้น 1 อาคาร A
เบอร์ติดต่อ :
1390


Line Official :   @petcharavej  คลิก  

____________________________________
 

แพคเกจที่เกี่ยวข้อง

โรคผิวหนัง

เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติบริเวณผิวหนัง รวมถึงการอักเสบ และการติดเชื้อที่ผิวหนัง โดยผู้ป่วยโรคนี้สามารถพบได้ทั่วไปไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ โดยทางโรงพยาบาลเพชรเวชเรามีทีมแพทย์พร้อมด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยพร้อมให้บริการรักษาอาการผิวหนังต่าง ๆ อย่างครบครัน

 

โรคทางผิวหนังที่พบบ่อย

 

  • โรคสิว เกิดจากการอักเสบ และการอุดตันของระบบต่อมไขมัน (sebaceous) ในรูขุมขน สิวเป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยเฉพาะในวัยรุ่น ตำแหน่งที่พบสิวมักจะเป็นตำแหน่งที่มีต่อมไขมันมาก เช่น บริเวณใบหน้า หน้าอก และหลัง หลายคนอาจจะคิดว่าสิวสามารถรักษาให้หายเองได้โดยไม่ต้องไปพบแพทย์ แต่ถ้าหากสิวเกิดการอักเสบ เป็นหนอง และมีโรคแทรกซ้อนจนอาจจะเสี่ยงต่อการเกิดแผลเป็นบนใบหน้าได้

  • ไฟลามทุ่ง หรืองูสวัด เป็นโรคติดเชื้อที่ผิวหนังที่เกิดจากเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นตื้นอักเสบ โดยเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล เช่น แผลถลอก แผลถูกของมีคมบาด รอยแกะเกา เป็นต้น อาการของโรคนี้จะมีลักษณะเป็นผื่นแดงขึ้นที่ผิวหนัง ลุกลามเร็ว คล้ายไฟลามทุ่ง สามารถรักษาให้หายขาดด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ แต่ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้จนลุกลาม หรือผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยพิษสุราเรื้อรัง อาจจะทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้

  • โรคเริม เกิดจากเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ ซิมเพลกซ์ (Herpes simplex virus, HSV) เป็นโรคผิวหนังที่สามารถติดต่อกันได้ผ่านทางน้ำลาย เพศสัมพันธ์ หรือการสัมผัสบริเวณที่มีแผลโดยตรง อาการของผู้ป่วยโรคเริมคือ เริ่มแรกจะรู้สึกแสบและคัน ต่อมาจะเกิดเป็นตุ่มใส ๆ อยู่กันเป็นกลุ่มและมีผื่นแดงล้อมรอบ เริมเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายเองได้ แต่ถ้าหากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงถึงขั้นไม่สามารถทานอาหารและน้ำได้ควรรีบพบแพทย์

  • ลมพิษ เกิดจากการแพ้บริเวณผิวหนัง ไม่ว่าจะเป็นการแพ้อากาศ แพ้ฝุ่น รวมถึงการสัมผัสกับสารเคมี ทำให้ผิวหนังเกิดอาการคัน มีผื่นแดง เป็นโรคผิวหนังที่พบได้ในทุกเพศทุกวัย ขนาดของผื่นมีตั้งแต่เล็กมาก ไปจนถึงมีขนาดใหญ่ โรคนี้มักจะหายเองเพียงแค่ทายา แก้อาการคัน แต่ถ้าหากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เช่น แน่นหน้าอก ตาบวม ปากบวม ควรรีบพบแพทย์โดยด่วนเพราะอาการดังกล่าวอาจจะส่งผลให้เกิดอาการหอบหืดและเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

 

วิธีป้องกันโรคผิวหนัง

 

  • หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีฝุ่นละออง หรือแมลงที่เสี่ยงต่อการเกิดอาการแพ้ที่เป็นตัวการสำคัญทำให้เกิดโรคผิวหนังได้

  • ควรทำความสะอาดร่างกายและล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วยโรคผิวหนังเพราะอาจจะทำให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายมาสู่ตัวเราได้

  • ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย

  • ระมัดระวังในการรับประทานยาต่าง ๆ เพราะอาจจะเป็นสาเหตุอีกประการหนึ่งที่ไปกระตุ้นให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนังได้

 

โรคผิวหนังเหล่านี้มักจะเป็นเรื้อรัง มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นอีก และไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้น การเข้ารับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางผิวหนังเป็นทางออกที่ดีสำหรับผู้ป่วยในโรคนี้ เพราะนอกจากจะทำให้ทราบแน่ชัดว่าป่วยเป็นโรคอะไรแล้วยังมีวิธีการรักษาเฉพาะทางที่ตรงกับโรคอีกด้วย

โรคไต

แต่ไหนแต่ไรมาหลายคนมีความคิดว่าถ้าไม่ทานรสเค็มก็ไม่เป็นโรคไต แต่ความจริงแล้วโรคนี้ไม่จำเป็นต้องทานเค็มก็สามารถเป็นได้ แถมสาเหตุของการเกิดโรคยังมีหลายประการ และมากพอที่ทำให้เราสุ่มเสี่ยงเป็นโรคนี้ได้ง่าย ๆ โรคนี้ยังส่งผลรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ด้วย เนื่องจากเป็นโรคที่จะปรากฏอาการในช่วงท้ายมากกว่าช่วงแรก วันนี้เราจึงจะมาทำความรู้จักโรคร้ายตัวนี้กัน

 

โรคไตคืออะไร

 

ปกติไตมีหน้าที่กำจัดของเสีย และควบคุมความเป็นกรดในกระแสเลือดนอกจากนี้ยังควบคุมสมดุลของเกลือแร่ และน้ำในร่างกายอีกด้วย เมื่อเป็นโรคไตจะทำให้เกิดความผิดปกติต่อการทำงานของไตทำให้ไตทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ โรคร้ายนี้มีอยู่หลายชนิด และที่พบได้บ่อย ได้แก่ กรวยไตอักเสบ ไตอักเสบ นิ่วในไต และไตวาย

 

สาเหตุของโรคไต

 

โรคนี้อาจมีความเข้าใจผิด ๆ ว่าเลี่ยงทานเค็มเท่ากับเลี่ยงโรคไต ทั้งนี้ในความเป็นจริงแล้วยังมีสาเหตุอื่น ๆ อีกมากจากการใช้ชีวิตประจำวันของเราเองที่ส่งผลให้เราเป็นโรคร้ายนี้ได้ โดยสาเหตุของการเกิดโรคร้ายที่ว่านี้ ได้แก่

  • จากพันธุกรรม โดยอาจเป็นมาตั้งแต่กำเนิดหรือค่อย ๆ แสดงอาการในภายหลังก็ได้

  • เกิดจากโรคอื่นที่มีผลกระทบกับไต เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน เป็นต้น

  • การทานอาหารรสจัดไม่ใช่เพียงแค่รสเค็ม รวมไปถึงหวานจัด หรือเผ็ดจัดด้วยเช่นกัน 

  • ดื่มน้ำน้อยเกินไป

  • ไม่ออกกำลังกาย

  • มีความเครียด

 

อาการของโรคไต

 

เนื่องจากไตเป็นอวัยวะที่ไม่สามารถซ่อมแซมตัวเองให้กลับมาสมบูรณ์ได้ การเกิดความผิดปกติกับไตจึงเป็นเรื่องอันตราย โดยในช่วงแรกผู้ป่วยโรคไตแทบจะไม่มีสัญญาณของโรคร้ายนี้เลย แต่อาการจะปรากฏออกมาในระยะท้าย ๆ ที่ไตได้รับความเสียหายไปมากแล้ว จนในระดับสูงสุดอาจเกิดอาการไตวาย และเสียชีวิตได้ อาการของผู้ป่วยโรคไตที่ปรากฏมีดังนี้

  • อ่อนเพลีย ไม่มีแรง 

  • ปัสสาวะผิดปกติ เช่น มีกลิ่นผิดปกติ มีสีผิดปกติ เป็นต้น

  • ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน

  • มีอาการเบื่ออาหาร

  • ตัวบวมเนื่องจากมีน้ำในร่างกายมาก

 

การตรวจหาโรคไต

 

  • ใช้ CT Scan เพื่อตรวจลักษณะของไต

  • ตรวจหาความผิดปกติของเลือด เช่น อาการติดเชื้อ และระดับของเสียในเลือด

  • ตรวจหาเชื้อแบคทีเรียในปัสสาวะ

 

การรักษาโรคไต

 

หากสงสัยว่าเป็นโรคร้ายนี้จำเป็นต้องเข้าพบแพทย์เพื่อรับการตรวจอยู่เป็นประจำ หากมั่นใจว่าเป็นโรคนี้จริงควรเข้ารับการรักษาแต่เนิ่น ๆ โดยแพทย์สามารถแก้จากสาเหตุของการเกิดโรค เช่น งดยาหรืออาหารที่ส่งผลเสียกับไต วิธีนี้ต้องทานยาตามคำสั่งของแพทย์ควบคู่ไปด้วย แต่ถ้าหากไตมีความเสียหายไปมากแล้ว หมอจะสั่งให้ควบคุมเรื่องอื่น ๆ เช่น การทานอาหาร หรือรักษาอาการของโรคอื่นที่ส่งผลต่อไต เพื่อให้ไตไม่เสียหายไปมากกว่านี้

 

การป้องกันโรคไต

 

  • รักษาโรคที่สามารถสร้างความเสียหายกับไต เพื่อรักษาสภาพไต

  • ดูแลร่างกายมากขึ้นทั้งการออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ งดการดื่มแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด พักผ่อนให้เพียงพอ เป็นต้น

  • ตรวจร่างกายเป็นประจำเพราะโรคไตในช่วงแรกมักไม่แสดงอาการ

 

โรคไตเป็นหนึ่งในภัยร้ายที่สามารถคร่าชีวิตเราได้ง่าย ๆ โดยกว่าเราจะรู้ตัว ไตของเราอาจจะเสียหายไปมากแล้ว ดังนั้นการตรวจสุขภาพ และการดูแลสุขภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรทำ

โลหิตวิทยา

“เลือด” เป็นสิ่งที่ไหลเวียนอยู่ภายในร่างกายของเรา และเป็นส่วนสำคัญในการมีชิวิตอยู่ของทุกชีวิต หากมีโรคร้ายเกิดขึ้นกับเลือดแน่นอนว่าอาจส่งผลรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ทางอายุรกรรมโลหิตวิทยาของเรามีหน้าที่ในการตรวจสอบการเกิดความผิดปกติของเลือดเพื่อค้นหาโรคร้าย และวินิจฉัยการรักษาต่อไป

 

หน้าที่ของเลือด

 

เลือดมีหน้าที่ในการลำเลียงก๊าซออกซิเจนจากปอดไปยังอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย และนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอวัยวะต่าง ๆ กลับมายังปอด นอกจากการขนย้ายก๊าซ เลือดยังทำหน้าที่เคลื่อนย้ายสารอื่น ๆ ไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายด้วย เช่น ฮอร์โมน วิตามิน เป็นต้น โดยเม็ดเลือดมีทั้งหมด 3 ชนิด คือ

  • เม็ดเลือดแดง ทำหน้าที่ลำเลียงแลกเปลี่ยนก๊าซระหว่างปอดกับอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย

  • เม็ดเลือดขาว ทำหน้าที่ป้องกันร่างกายจากสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาสู่ร่างกาย

  • เกล็ดเลือด ทำหน้าที่ให้เลือดแข็งตัวกรณีที่เกิดบาดแผล

 

โรคเลือดคืออะไร

 

คือ อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับระบบโลหิตทั้งเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือด และสามารถส่งผลเสียต่อร่างกายได้หลายระบบ เนื่องจากระบบโลหิตเป็นระบบที่สำคัญในร่างกายการรักษา โรคเลือดหลายชนิดจึงมีความสำคัญและทำการรักษาได้ยาก เช่น การเกิดมะเร็งในเม็ดเลือด เป็นต้น

 

 

โรคในเลือดที่พบบ่อย

 

  • โรคธาลัสซีเมีย เกิดจากการที่ยีนในร่างกายสังเคราะห์ฮีโมโกลบินได้ไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้เม็ดเลือดแดงลำเลียงออกซิเจนได้ไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย และหากเป็นโรคนี้ชนิดรุนแรงสามารถส่งผลให้เสียชีวิตได้ โรคร้ายนี้สามารถส่งต่อผ่านพันธุกรรม และไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ผู้ป่วยควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำตามความรุนแรงและตามชนิดของโรคนี้

 

  • โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคนี้เกิดจาการที่ร่างกายสร้างเม็ดเลือดขาวผิดปกติ ส่งผลให้การทำงานของเม็ดเลือดเกิดความผิดพลาด ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย อาจมีรอยช้ำของเลือดตามผิวหนัง นอกจากนี้ยังสามารถติดเชื้อได้ง่าย สามารถรักษาได้ด้วยการเข้าพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยการรักษาตามชนิดของโรค การแพร่กระจายของโรค และวัยของผู้ป่วย

 

  • มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการต่อมน้ำเหลืองบวมประกอบกับอ่อนเพลีย มีไข้ น้ำหนักลดลง โรคร้ายนี้สามารถรักษาได้ด้วยการเข้าพบแพทย์เเละรักษาตามระยะของมะเร็ง และในระหว่างการรักษาผู้ป่วยต้องหมั่นดูแลตัวเองมากขึ้น เช่น ออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ งดดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น

มะเร็ง

มะเร็งโรคร้ายที่หลายคนอาจคิดว่ามีโอกาสเป็นได้ยาก และคิดว่าระมัดระวังตัวดีแล้วจะทำให้รอดพ้นจากโรคนี้ แต่แท้จริงแล้วโรคร้ายนี้เกิดขึ้นได้ง่ายกว่าที่คิด ถึงจะดูแลตัวเองดีแค่ไหนก็สามารถเป็นโรคนี้ได้เพราะโรคดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้กับหลายอวัยวะและมีสาเหตุการเกิดมาจากการดำรงชีวิตประจำวันได้ด้วย และด้วยความที่โรคนี้มักไม่แสดงอาการในช่วงแรกนั้น จึงทำให้การรักษาโรคนั้นทำได้อย่างยากลำบากหรืออาจสายเกินไป นอกจากว่าจะมีการตรวจพบเชื้อมะเร็งตั้งแต่ในระยะแรก ๆ เสียก่อน

 

โรคมะเร็ง คืออะไร

 

เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในร่างกายที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้เซลล์เจริญเติบโตและเกิดการกลายพันธุ์ในที่สุด หลังจากนั้นเซลล์กลายพันธุ์จะแพร่เชื้อไปยังบริเวณใกล้เคียงและทำให้เกิดเนื้อร้ายหากปล่อยทิ้งไว้ต่อไปเชื้อมะเร็งจากอวัยวะหนึ่งจะสามารถแพร่เชื้อไปยังต่างอวัยวะได้ และด้วยโรคนี้เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับหลายอวัยวะรวมไปถึงอวัยวะสำคัญ ดังนั้นจึงทำให้โรคร้ายนี้เป็นอีกโรคหนึ่งที่มีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งในประเทศไทยเองก็มีสถิติของผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งอยู่ในระดับที่สูงมากเช่นกัน

 

 

โรงมะเร็งมีกี่ชนิด

 

โรคร้ายตัวนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับหลายอวัยวะ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้โรคนี้มีอันตรายในระดับต้น ๆ อวัยวะที่สามารถเกิดเชื้อมะเร็งได้ ได้แก่ ปอด, ไต, กระเพาะอาหาร, ต่อมลูกหมาก, เต้านม, ปากมดลูก, ผิวหนัง, กระดูก, เม็ดเลือดขาว, หลอดอาหาร, ถุงน้ำดี, มดลูก, สมอง, ลำไส้ใหญ่, กระเพาะปัสสาวะ, โพรงจมูก, กล่องเสียง, ตับ, ทวารหนัก, ช่องปาก, หลังโพรงจมูก, อัณฑะ, ต่อมน้ำเหลือง, ไทรอยด์, เม็ดเลือดขาวมัลติเพิลมัยอิโลมา และกระดูกออสทีโอซาร์โคมา

 

สาเหตุของการเกิดโรคมะเร็ง

 

โดยส่วนมากแล้วโรคร้ายนี้มักมาจากการใช้ชีวิตประจำวันแบบผิด ๆ และทำสั่งสมมานานโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

  • สูบบุหรี่และดื่มสุรา

  • การรับประทานอาหารไขมันสูงหรืออาหารจำพวกปิ้ง ย่าง มากเกินไป

  • ไม่ออกกำลังกาย

  • มีความเครียดสะสมและต่อเนื่อง

  • รับรังสีที่เป็นตัวก่อมะเร็ง

  • มีน้ำหนักมากกว่ามาตรฐาน

  • ร่างกายมีภูมิคุ้มกันอ่อนแอกว่าปกติ

 

อาการของโรคมะเร็ง

 

โรคมะเร็งส่วนมากจะไม่แสดงอาการออกมาในระยะแรก แต่มักจะแสดงอาการหลังจากที่เชื้อมีการแพร่กระจายออกไปแล้ว โดยอาการที่สามารถพบได้จากผู้ป่วยโรคนี้ ได้แก่

  • คลำเจอก้อนเนื้อบริเวณต่าง ๆ บนร่างกายและมีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว

  • อ่อนแรง อาเจียน วิงเวียนศีรษะ

  • น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว

  • ในสตรีจะทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ

  • ไอหรือจามจะมีเลือดออกมาด้วย

  • มีอาการไข้

  • หากเป็นแผลและทำการรักษาแผลจะหายได้ยากกว่าปกติ

  • มีอาการปวดเมื่อยตามตัว

 

ระยะของโรคมะเร็ง

 

โดยปกติแล้วโรคร้ายนี้จะแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่

  • ระยะที่ 1 ระยะนี้แผลหรือเชื้อจะเติบโตอยู่ในอวัยวะต้นกำเนิดของโรคเท่านั้น

  • ระยะที่ 2 ระยะนี้จะมีการเติบโตขึ้นแต่ยังไม่ลุกลามมาก

  • ระยะที่ 3 เชื้อมีขนาดโตมากขึ้นและเริ่มลุกลามไปยังอวัยวะใกล้เคียง

  • ระยะที่ 4 เป็นระยะที่เชื้อลุกลามไปมากแล้ว ในขั้นนี้จะมีอยู่ 2 แบบ คือ แบบที่เชื้อมีความรุนแรงแต่ยังไม่แพร่กระจายซึ่งยังมีโอกาสรักษาให้หายได้ ส่วนอีกแบบหนึ่งคือแบบเชื้อมีความรุนแรงและมีการแพร่กระจายไปมากแล้วจนไม่มีโอกาสรักษาให้หายได้แล้ว

 

การรักษาโรคมะเร็ง

 

สามารถรักษาได้หลายวิธีทั้งการผ่าตัด ทำเคมีบำบัด หรือทำการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ เป็นต้น และการรักษาส่วนมากจะต้องควบคุมไม่ให้เชื้อมะเร็งกระจายเพิ่มเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ในการรักษาที่มีประสิทธิภาพโดยหากตรวจพบมะเร็งระยะที่ 1 หรือ 2 จะมีโอกาสสูงในการรักษาให้หายได้มากกว่าระยะที่ 3 และ 4

 

การป้องกันโรคมะเร็ง

 

โรคนี้สามารถป้องกันได้โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตด้วยการดูแลเรื่องการกินอยู่เสมอต้องรับประทานผักผลไม้และลดการทานอาหารจำพวกปิ้ง ย่าง หรืออาหารที่มีไขมันสูง รวมถึงหมั่นออกกำลังกาย ดูแลร่างกายให้มีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานอยู่เสมอและงดการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากวิธีที่กล่าวมาทั้งหมดเรายังควรตรวจสุขภาพเป็นประจำเพื่อป้องกันเชื้อมะเร็ง หากพบก่อนที่มันจะลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ จะสามารถรักษาได้ทันท่วงที เท่านี้เราก็สามารถห่างไกลโรคร้ายนี้ได้มากขึ้นแล้ว

ปอด

ในยุคสมัยใหม่ที่มีสภาพอากาศไม่บริสุทธิ์เหมือนแต่ก่อน โดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างเมืองหลวงของประเทศไทยที่ต้องเผชิญกับฝุ่นควัน PM 2.5 เรียกได้ว่าคนทุกช่วงวัยมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคทางปอด และรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ และไม่ใช่เพียงแค่ฝุ่นควันเท่านั้น สาเหตุของโรคนี้ยังสามารถเกิดได้อีกหลายสาเหตุ การดูแลรักษาปอดจึงเป็นสิ่งที่คนในยุคนี้ควรตระหนักไว้

 

ปอดมีหน้าที่อะไร

 

ปอดเป็นอวัยวะในระบบหายใจอยู่บริเวณหน้าอกทั้ง 2 ข้าง โดยมีหน้าที่คอยแลกเปลี่ยนก๊าซผ่านการหายใจ คือ รับก๊าซออกซิเจนเข้ามาตอนหายใจเข้า และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาตอนหายใจออก นอกจากนั้นยังมีส่วนช่วยในการควบคุมอุณหภูมิของร่างกายและยังช่วยกรองสิ่งอันตรายจากการหายใจอีกด้วย

 

อาการโรคทางปอด

 

  • แน่นหน้าอก
  • หายใจลำบากและมีอาการไอ
  • มีอาการหอบหืด
  • นอนกรน และหยุดหายใจขณะหลับ
  • ปวดเมื่อยตามลำตัว
  • คลื่นไส้ อาเจียน

 

โรคที่ควรระวังในปอด

 

  • ปอดติดเชื้อ คือการติดเชื้อมาจากสิ่งอันตราย เช่น ไวรัส แบคทีเรีย เป็นต้น เป็นผลให้อวัยวะส่วนนี้เกิดอาการอักเสบ เป็นโรคที่สามารถติดต่อได้ผ่านน้ำลาย หรือการไอ จาม โรคนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น อยู่ในพื้นที่ที่อากาศไม่ถ่ายเท อยู่ใกล้ผู้ป่วย หรือสูบบุหรี่ เป็นต้น ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยล้า มีไข้ หายใจเร็ว อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน ใส่หน้ากากอนามัยในที่มีฝุ่นควัน หรืออยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก เป็นต้น

  • ปอดบวม เป็นอาการติดเชื้อส่งผลให้มีอาการหอบเหนื่อย ไอ เจ็บหน้าอก สาเหตุมาจากการรับเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย ภายในอากาศเข้าสู่ร่างกาย สามารถรักษาได้ด้วยการพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย และรักษาตามอาการให้ดีขึ้น สามารถป้องกันได้ด้วยการงดสูบบุหรี่ และงดดื่มแอลกอฮอล์ อยู่ในที่ระบายอากาศได้ดี หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ เป็นต้น

  • ถุงลมโป่งพอง เกิดจากถุงลมปอดอักเสบจนถุงลมมีขนาดใหญ่ขึ้น มีสาเหตุหลักมาจากการสูบบุหรี่ และสามารถมาจากสภาพอากาศที่เป็นพิษ เป็นต้น ผู้ป่วยจะมีอาการหายใจลำบาก และไอ อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นเร็ว เป็นต้น โรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถยับยั้งความเสียหายได้ทั้งการใช้ยาหรือฉีดวัคซีน ผู้ป่วยต้องทำการฟื้นสภาพปอดร่วมกับการออกกำลังกาย หรือทานอาหารที่เป็นประโยชน์ เป็นต้น  

 

การรักษาโรคทางปอด

 

  • ใช้ยาปฏิชีวนะ
  • การผ่าตัด
  • การฉายรังสี
  • ใช้ยาขยายหลอดลม

 

การดูแลรักษาปอด

 

  • ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอกับที่ร่างกายต้องการ

  • งดการสูบบุหรี่

  • หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ

  • ทานอาหารที่มีประโยชน์ และมีวิตามิน

  • ดูแลความสะอาดของที่พักอาศัยไม่ให้เกิดการสะสมของเชื้อโรค

โรคติดเชื้อ

การใช้ชีวิตประจำวันในแต่ละวันเราต้องอยู่ร่วมกับสิ่งที่มองไม่เห็น โดยเฉพาะเชื้อโรคถึงแม้เราจะคิดว่าเราปลอดภัย แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเชื้อโรคมีอยู่ทุกที่ แม้ว่าเราคิดว่าเราจะออกกำลังกายดูแลตัวเองอย่างดีแล้ว แต่ในช่วงที่เราไม่สบายหรืออ่อนแอ เชื้อโรคต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเราอาจส่งผลต่อร่างกายได้ทันที และอาจนำพามาสู่โรคติดเชื้อที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

โรคติดเชื้อคืออะไร

 

เมื่อร่างกายของเราอ่อนแอ อาจทำให้เชื้อโรคเข้าทำร้ายเราได้ นอกจากนี้โรคติดเชื้อยังสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ด้วย โดยเชื้อโรคที่กล่าวมานี้มีหลายชนิด เช่น  เชื้อจุลินทรีย์ เชื้อปรสิต เชื้อไวรัส และเชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น

 

โรคติดเชื้อเกิดจากอะไร

 

สาเหตุของการเกิดโรคนี้สามารถมาจากเชื้อรอบตัวที่หลากหลายอย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น โดยจะสามารถแบ่งออกได้อย่างละเอียด ดังนี้

  • เชื้อแบคทีเรีย สามารถทำให้เกิดโรคบาดทะยัก โรคซิฟิลิส โรคฉี่หนู เป็นต้น

  • เชื้อรา สามารถทำให้เกิดโรคเชื้อราที่ผิวหนัง

  • เชื้อไวรัส สามารถทำให้เกิดโรคเอดส์ โรคพิษสุนัขบ้า โรคหวัด เป็นต้น

  • เชื้อปรสิต สามารถทำให้เกิดโรคพยาธิต่าง ๆ ได้

 

การแพร่กระจายของเชื้อโรค

 

  • ผ่านระบบทางเดินหายใจ
  • ผ่านระบบทางเดินอาหาร
  • ผ่านทางผิวหนังทั้งการสัมผัสกับเชื้อโรค หรือเข้าทางบาดแผล
  • ทางเยื่อบุชนิดต่าง ๆ ไม่ว่าตรงบริเวณนั้นจะมีแผลหรือไม่
  • ทางเพศสัมพันธ์
  • ทางสายสะดือโดยทารกจะได้รับเชื้อจากผู้เป็นแม่

 

โรคติดเชื้อที่ควรระวัง

 

  • โรคหวัด เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส และเป็นได้ทุกฤดู สามารถเป็นได้ทุกวัย แต่ในวัยเด็กมีโอกาสเป็นได้มากกว่าเนื่องจากภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรงเท่าวัยผู้ใหญ่ โดบปกติโรคหวัดจะไม่ส่งผลรุนแรง และสามารถหายเองได้ แต่หากอาการไม่ดีขึ้นควรเข้าพบแพทย์ทันที

  • หลอดลมอักเสบ ส่วนใหญ่จะเกิดจากการติดเชื้อไวรัสซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งเรื้อรัง และแบบเฉียบพลัน สามารถเกิดได้ 2 ฤดู คือ ฤดูฝน และฤดูหนาว สามารถรักษาได้ด้วยการเข้าพบแพทย์เพื่อรักษาตามอาการตามคำแนะนำของแพทย์ และพักผ่อนให้เพียงพอ

  • โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส และสามารถเป็นได้ทุกวัย แต่วัยผู้สูงอายุหากเป็นโรคนี้จะมีอาการที่รุนแรงมากกว่า ในปัจจุบันมีวัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคนี้ได้ อย่างไรก็ตามเราก็ควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ และพยายามหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคนี้ด้วยเช่นกัน

 

การป้องกันโรคติดเชื้อ

 

  • ล้างมือเป็นประจำทั้งก่อน-หลังทานอาหาร

  • ควรรับการฉีดวัคซีนให้ครบตามมาตรฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันโรค

  • ควรใส่หน้ากากอนามัยหากต้องเข้าไปยังสถานที่สุ่มเสี่ยงเชื้อโรค

  • ดูแลความสะอาดของสิ่งแวดล้อมรอบตัวรวมถึงอาหาร

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ

โรคข้อ

หากคุณตื่นนอนขึ้นมาแล้วเกิดอาการเจ็บปวดตามข้อกระดูกทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้เคลื่อนไหว หรือทำกิจกรรมใด ๆ อาจจะมีสาเหตุมาจากโรคข้อกระดูก ซึ่งเป็นภัยเงียบที่พบเจอ

 

โรคข้อคืออะไร

 

คือ ภาวะอักเสบของเยื่อหุ้มข้อต่อโครงกระดูก มีหายสาเหตุ เช่น ติดเชื้อ โรคเก๊าต์ และรูมาตอยด์


 

โรคเกี่ยวกับข้อที่พบบ่อย

 

  • โรครูมาตอยด์ เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของเยื่อหุ้มข้อ ผู้ป่วยมักปวดในบริเวณข้อมือ หรือข้อเท้า แม้จะไม่ได้ใช้งานก็จะรู้สึกปวด เช่น ปวดตอนดึก ปวดตอนก่อนนอน ปวดหลังตื่นนอน โดยอาการปวดจะกินเวลานานแม้ทานยาระงับปวดแล้ว นอกจากนี้ยังมีอาการไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย ตาแห้ง คอแห้งผิดปกติ เป็นต้น

  • โรคข้อสันหลังอักเสบยึดติด เป็นโรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันผิดปกติ พบได้มากในเพศชาย อาการของผู้ที่ป่วยเป็นโรคข้อสันหลังอักเสบยึดติด คือ ปวดเมื่อยบริเวณหลังส่วนล่างใกล้สะโพกเป็นเวลานานมากกว่า 3 เดือน อ่อนล้า และลำตัวมีลักษณะโน้มไปข้างหน้า นอกจากนี้ยังพบว่า มีอาการตาอักเสบร่วมด้วย

  • โรคเกาต์ คือโรคข้ออักเสบจำเพาะที่เกิดจากภาวะกรดยูริกในเลือดสูงติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยโรคนี้สามารถเกิดได้ในหลายอวัยวะ เช่น ข้อ ผิวหนัง และไต มักพบในผู้ป่วยวัยกลางคนที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป อาการของผู้ป่วยโรคนี้ คือ จะมีอาการปวดรุนแรงอย่างฉับพลัน โดยบริเวณที่ปวดจะมีอาการบวม และมีรอยแดงโดยรอบ

  • โรคข้อเข่าเสื่อม คือ โรคที่เกิดจากความเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อนที่ผิวข้อเข่าเป็นเวลานาน มักพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคนี้จะมีอาการปวดบริเวณเข่าเวลาขึ้นลงบันได และมีอาการบวมในบริเวณที่ปวด วิธีการรักษาคือการใช้ยาบรรเทาปวด และยาแก้อักเสบ แต่หากผู้ป่วยมีอาการปวดเรื้อรังมากแพทย์ก็จะทำการผ่าตัด


 

การป้องกันโรคข้อ

 

โรคข้อเป็นโรคที่สามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัยจึงควรป้องกันด้วยการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ ออกกำลังกายเพื่อให้น้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ปกติ และหลีกเลี่ยงการดื่มเหล้า และสูบบุหรี่ 

จิตเวช

โรคทางจิตเวช คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของอารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม ทำให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม อย่างไรก็ตามโรคทางจิตเวชก็สามารถรักษาให้หายได้เพียงแต่ต้องใช้เวลา และวิธีรักษาที่แตกต่างกัน

 

กลุ่มคนที่เสี่ยงโรคจิตเวช

 

  • กลุ่มคนที่มีความเครียดที่เกิดได้จากปัญหารอบตัวที่ต้องเผชิญ

  • ผู้ที่ติดยาเสพติดเนื่องจากสารเสพติดมีโทษร้ายแรงหลายประการหนึ่งในนั้นคือการส่งผลทางอารมณ์และความรู้สึก

  • ผู้ที่มีปัญหาทางด้านเพศสัมพันธ์หรือการไม่ชอบการถูกเนื้อต้องตัวจากสามี

  • ผู้ป่วยโรคร้ายแรง คนที่ป่วยโรคร้ายเองอาจส่งผลต่อจิตใจและนำพาไปสู่การเป็นโรคทางจิตเวชได้

  • กลุ่มคนที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมหรืออยู่ในสังคมที่ไม่ดีที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจและความรู้สึก

  • บุคคลที่คิดมากและไม่สามารถผ่านปัญหาชีวิตต่าง ๆ ได้

  • ผู้ที่มีพฤติกรรมไม่เหมือนเดิมเปลี่ยนไปเหมือนคนละคน 

  • ผู้ที่มีญาติเป็นโรคทางจิตเวชมาก่อนอาจส่งต่อมาผ่านทางพันธุกรรมได้

 

พฤติกรรมของผู้มีอาการทางจิตเวช

 

  • มีความคิดที่แปลกจากคนอื่น เช่น การคิดเรื่องเดิม ๆ ซ้ำไปซ้ำมา คิดช้า และลังเล เป็นต้น

  • ผู้ที่มีโรคทางจิตเวชจะระแวงบุคคลรอบข้าง

  • มีอาการเบื่อหน่าย และซึมเศร้า หรือร่าเริงเกินปกติ

  • มีอารมณ์ไม่คงที่

  • เหม่อลอย

 

โรคทางจิตเวชที่สำคัญ

 

  • โรคซึมเศร้า เป็นโรคที่เกิดจากสมองทำงานผิดปกติ และมีเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่กระทบความรู้สึกมากเกินไป ผู้ป่วยจะมีอาการเศร้า และรู้สึกสิ้นหวังไม่สามารถหาทางออกได้ ในรุนแรงที่สุดอาจคิดฆ่าตัวตาย

  • โรคไบโพลาร์ เป็นโรคทางจิตเวชที่ทำให้ผู้ป่วยมีอารมณ์ 2 รูปแบบสลับไปมาคืออารมณ์เศร้า ท้อแท้ และอารมณ์ดีมากเกินไป ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้จะมีอารมณ์ที่แปรปรวนโมโหง่าย และไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้

  • โรคจิตเภท เป็นโรคที่ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการเพ้อ พูดคนเดียว หวาดระแวง โรคนี้สามารถรักษาได้ง่ายหากเป็นระยะแรก ๆ หากรักษาในระยะหลัง ๆ จะรักษาได้ยากมาก นอกจากนี้โรคนี้ยังเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เพราะถึงแม้จะรักษาจนอาการดูเหมือนจะเป็นปกติแล้วแต่ก็ต้องทานยาอย่างต่อเนื่อง

  • โรคแพนิค เป็นโรคที่เกิดจากเส้นประสาทในสมองมีการตอบสนองต่อสิ่งเร้ารวดเร็วและมากเกินปกติ ส่งผลให้มีการแสดงออกมาในลักษณะตื่นตัว หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว เป็นต้น อาการจะสงบลงได้เองแต่สามารถเกิดขึ้นได้อีกหากเจอสิ่งเร้าดังกล่าว

 

การรักษาโรคทางจิตเวช

 

ในส่วนของการรักษาสามารถรักษาได้ทั้งการบำบัด การใช้ยา หรือไม่ใช้ยาก็ได้ โดยหากต้องการรักษาแบบไม่ใช้ยาเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบข้างเคียงที่อาจเกิดจากตัวยานั้น จำเป็นต้องให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคทางจิตเวชอยู่ในการวินิจฉัยจากเเพทย์ก่อนว่าระดับความรุนแรงและชนิดของโรคสามารถรักษาแบบไม่พึ่งพายาได้หรือไม่ นอกจากนี้บุคคลรอบข้างของผู้ป่วยหรือก็คือครอบครัวที่คอยดูแลผู้ป่วยก็มีความสำคัญมากในขั้นตอนของการรักษา เนื่องจากเมื่อไม่อยู่ในมือหมอแล้วคนที่บ้านจำเป็นต้องช่วยกันดูแลให้กำลังใจผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกโดดเดี่ยวและมีกำลังใจในการต่อสู้กับโรคต่อไป รวมถึงการพาผู้ป่วยทำกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้ป่วยรู้จักความมีคุณค่าและความหมายของชีวิต

แพทย์นิติเวช

เมื่อเกิดเหตุอาชญากรรมขึ้นในสังคมหลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า “แพทย์นิติเวช” ผ่านช่องทางโทรทัศน์และหน้าหนังสือพิมพ์ แต่ก็มีน้อยคนนักที่จะรู้ว่าแพทย์นิติเวช มีหน้าที่อะไรและมีความสำคัญอย่างไรต่อกระบวนการยุติธรรม ดังนั้นเรามาทำความรู้จักแพทย์นิติเวชว่ามีหน้าที่อย่างไรบ้าง

 

แพทย์นิติเวชมีหน้าที่อย่างไร

 

แพทย์นิติเวช คือ แพทย์สาขาหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย ซึ่งเป็นการนำเอาวิชาแพทย์ทุกสาขาไปประยุกต์ใช้ในขบวนการยุติธรรม โดยนิติเวชได้แยกออกเป็นวิชาย่อยหลายสาขาด้วยกัน เช่น

  • พิษวิทยา (Toxicology) เป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับยาพิษและสารพิษ ไม่ว่าจะเป็นสารพิษที่มาจากสารเคมี พืช หรือสัตว์ก็ตาม

  • นิติพยาธิวิทยา (Forensic Pathology) เป็นการศึกษาหาสาเหตุของการตายที่ผิดธรรมชาติ เพราะบางครั้งการชันสูตรพลิกศพอย่างเดียวก็ไม่สามารถบอกเหตุการตายได้ เช่น กรณีคนกินยานอนหลับต้องมีการนำของเหลวในร่างกายไปตรวจหาชนิดของยา 

  • นิติซีโรวิทยา (Forensic Serology) เป็นวิชาที่ตรวจเลือดและน้ำเหลืองในส่วนที่เกี่ยวกับแอนติเจน แอนติบอดี้ และดีเอ็นเอ

  • วัตถุพยานทางชีววิทยา (Biological trace evidence) เป็นการตรวจวัตถุพยานในที่เกิดเหตุในทางชีววิทยา เช่น เลือด น้ำอสุจิ ขน เส้นผม น้ำลาย เป็นต้น เพื่อยืนยันว่าเป็นของใคร 

 

หน้าที่ของแพทย์นิติเวช

 

แพทย์นิติเวชมีหน้าที่ในการหาหลักฐานโดยใช้สิ่งที่ได้จากที่เกิดเหตุ ไม่ว่าจะเป็นศพ ขน เลือด หรือเส้นผม เพื่อให้สามารถจับผู้กระทำผิด หรือช่วยหาสาเหตุของอุบัติเหตุนั้น ๆ ที่เกิดขึ้นได้ แพทย์นิติเวชจึงมีความสำคัญไม่ต่างไปจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพียงแต่แพทย์นิติเวชจะทำงานอยู่ในห้องปฏิบัติการ ในขณะที่เจ้าหน้าที่จะทำงานอยู่ในสถานที่เกิดเหตุเท่านั้น

เบาหวานและต่อมไร้ท่อ

หากจะกล่าวถึงโรคชนิดหนึ่งที่คนไทยมีโอกาสเป็นได้ง่ายคงหนีไม่พ้น โรคเบาหวาน (Diabetes) หลาย ๆ คนอาจคิดว่าโรคนี้เป็นโรคที่เป็นได้ยาก แต่ความจริงแล้วสาเหตุของโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ เพราะส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การไม่ดูแลร่างกาย พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ดี และการไม่ออกกำลังกาย เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้ในระดับรุนแรงอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ อย่างไรก็ตามโรคนี้ยังมีวิธีป้องกันและควบคุมอาการของโรคได้เช่นกัน

 

สาเหตุของโรคเบาหวาน

 

โรคเบาหวานมีอยู่ 2 ชนิด และสาเหตุเกิดจากการที่ตับอ่อนไม่สามารถสร้าง “ฮอร์โมนอินซูลิน” ได้หรือสร้างได้น้อย ซึ่งฮอร์โมนชนิดนี้จะทำหน้าที่เผาผลาญน้ำตาลในร่างกายเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานให้กับร่างกาย แต่เมื่อฮอร์โมนอินซูลินมีน้อยเกินไป ทำให้ร่างกายไม่สามารถเผาผลาญน้ำตาลได้ ทำให้ในกระแสเลือดมีน้ำตาลมากเกินไป จึงถูกกรองออกผ่านทางปัสสาวะจะทำให้มีมดมาตอมปัสสาวะของเราอย่างที่เราเคยอ่านมาจากที่ต่าง ๆ นั่นแหละ

 

โรคเบาหวานมีหลายชนิด

 

ถึงแม้โรคนี้จะมีโอกาสเป็นได้ง่าย แต่ไม่ได้หมายความว่าโรคดังกล่าวมีแค่ชนิดเดียว ในที่นี้จะจำแนกออกเป็น 4 ชนิด ได้แก่

  • ชนิดที่ 1 ส่วนมากจะพบในกลุ่มคนที่มีอายุน้อย คือ ช่วงวัยเด็ก ไปจนถึงกลุ่มคนที่อายุไม่เกิน 30 ปี โดยมีสาเหตุหลักมาจากการที่ตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ตามปกติ ผู้ป่วยในโรคเบาหวานชนิดที่ 1 มักมีร่างกายที่ซูบผอมและต้องทำการรักษาด้วยการฉีดอินซูลินเป็นประจำ หากผู้ป่วยเกิดอาการขาดอินซูลินจะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการหมดสติได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยในเบาหวานชนิดที่ 1 มีโอกาสเป็นภาวะคิโตซิส (Ketosis) อีกด้วย
  • ชนิดที่ 2 โรคเบาหวานชนิดที่ 2 นั้นเป็นชนิดที่เกิดขึ้นกับคนไทยมากที่สุด และผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีรูปร่างอ้วนหรือน้ำหนักเกินมาตรฐาน โดยสาเหตุเกิดจากตับอ่อนสร้างอินซูลินไม่มากเท่าคนทั่วไป อาจทำให้เกิดภาวะร่างกายดื้ออินซูลิน (ร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินได้ไม่ดี) โดยถ้าหากร่างกายมีอินซูลินไม่เพียงพอ ร่างกายจะพยายามให้ตับอ่อนสร้างอินซูลินเพิ่มขึ้น เป็นสาเหตุให้ตับอ่อนทำงานหนักมากเกินไปนั่นเอง
  • ชนิดอื่น ๆ จากสาเหตุต่าง ๆ สาเหตุต่าง ๆ ในที่นี้ เช่น การใช้ยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ หรือสารเคมีอื่น ๆ ที่มีผลทำให้เสี่ยงเกิดโรค หรือจะเป็นการติดต่อมาผ่านทางพันธุกรรมก็มี รวมไปถึงการเป็นโรคที่ส่งผลต่อตับอ่อนโดยตรง เช่น โรคตับอ่อนอักเสบ เป็นต้น ก็มีผลทำให้เกิดโรคนี้ได้เช่นเดียวกัน
  • ขณะตั้งครรภ์ การมีโอกาสสุ่มเสี่ยงขณะตั้งครรภ์เกิดจากการที่ขณะตั้งครรภ์ร่างกายจะมีการผลิตสารต่อต้านอินซูลินนั่นเอง ในจุดนี้หากผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ไม่สามารถเพิ่มอินซูลินในร่างกายให้เป็นไปตามมาตรฐานได้ ก็จะทำให้เสี่ยงได้ ซึ่งหากได้ทำการคลอดลูกเรียบร้อยแล้วอาจทำให้อาการสุ่มเสี่ยงลดน้อยลง แต่ก็ควรหมั่นเข้ามาพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายเพื่อความมั่นใจได้เช่นกัน และโรคชนิดชนิดนี้ส่วนมากจะเกิดจากผู้ที่ไม่เคยมีประวัติเป็นโรคเบาหวานอีกด้วย

 

อาการของผู้ป่วยโรคเบาหวาน

 

  • ผู้ป่วยจะปัสสาวะบ่อย เกิดจากน้ำตาลดึงน้ำออกจากเลือดในปริมาณที่มากกว่าปกติ ส่งผลให้ผู้ป่วยกระหายน้ำมากขึ้นตามไปด้วย

  • ร่างกายซูบผอมลงเนื่องจากเมื่อร่างกายไม่มีพลังงานจากน้ำตาล ร่างกายจึงหันไปเผาผลาญไขมันและกล้ามเนื้อแทนทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีร่างกายเริ่มซูบผอมและไม่มีแรง เมื่อมีน้ำตาลในเลือดมากเกินไปจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้

  • สายตาพร่ามัว เนื่องจากจอตาเสียหายจากน้ำตาลในเลือดที่มากเกินไปในระดับรุนแรงที่สุดจะทำให้สูญเสียการมองเห็นได้

 

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน

 

ภาวะที่แทรกเข้ามาที่พบมากคือ “ภาวะเบาหวานขึ้นตา” เมื่อน้ำตาลในเลือดมีปริมาณมากจะทำให้เส้นเลือดที่จอตาเกิดความเสียหาย ในช่วงแรก ๆ อาจไม่มีผลต่อการมองเห็นมาก แต่หากปล่อยทิ้งไว้ต่อไปเป็นเวลานาน จะทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็นได้ในที่สุด ดังนั้นจึงควรพบแพทย์แต่เนิ่น ๆ 

 

การป้องกันโรคเบาหวาน

 

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และกากใยอาหาร เช่น ผัก ผลไม้

  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่

  • ควรหลีกเลี่ยงการทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต และไขมันสูง และไม่ควรทานหวานมากจนเกินไป หสกเป็นเนื้อสัตว์ควรทานเนื้อสีขาว ไม่ติดมัน เช่น ปลา ไก่ เป็นต้น

  • ออกกำลังกายเป็นประจำ

 

การรักษาโรคเบาหวาน

 

โรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมไม่ให้มีอาการรุนแรงได้ โดยปกติหากตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ แพทย์จะให้สารอินซูลินสังเคราะห์ ประกอบกับผู้ป่วยต้องออกกำลังกาย และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารด้วย นอกจากนี้ยังมีพืชสมุนไพรบางชนิดที่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ เช่น ตำลึง มะระขี้นก มะแว้งต้น ฟ้าทะลายโจร เป็นต้น

 

ถึงแม้โรคเบาหวานจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลตัวเองมากขึ้น รวมไปถึงการเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ก็ต้องเข้าพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการปฏิบัติด้วยเช่นกัน เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต